ตลาดข้าวของโลก

ตลาดข้าวของโลก

ในระยะหลังนี้ มีการเขียนข่าวเกี่ยวกับการค้าข้าวออกมามาก ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงปัญหาที่ประเทศไทยส่งออกข้าวน้อยลง

เพราะราคาข้าวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างมาก สืบเนื่องมาจากราคาประกันข้าวที่สูงทำให้รัฐบาลต้องรับซื้อข้าวมาเก็บเอาไว้เป็นจำนวนมากและมีการกล่าวถึงปัญหาในการเก็บรักษาข้าวว่าจะมีการทุจริตกันมากน้อยเพียงใด และการระบายข้าวของรัฐบาลนั้นจะทำได้อย่างโปร่งใสหรือไม่ เพราะหากประกาศออกมาให้เป็นที่รู้กันทั่วไปก็เกรงว่าจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่หากทำอย่างปกปิดก็เกรงว่าจะเป็นความพยายามปกปิดความทุจริตหรือไม่
 

ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้วเรื่องข้าว คือ เรื่องของกฎแห่งอุปสงค์และอุปทานหรือรูปเส้นดีมานด์และซัพพลายที่เราหลายคนเคยต้องวาดตอนเรียนเศรษฐศาสตร์ปี 1 ซึ่งดูเสมือนการวาดรูปแบบเด็กเล่น แต่ที่จริงแล้วเป็นการสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลไกตลาดที่ไม่เข้าใครออกใคร กล่าวคือเป็น “กฎ” ที่ยากที่จะฝืนได้ แม้จะเป็นรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายโดยตั้งอยู่บนความหวังดี แต่หากขัดกับกลไกตลาดแล้วก็จะต้องเผชิญกับสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก
 

เส้นดีมานด์ที่เราวาดรูปสะท้อนความจริงว่าสินค้าใดก็ตามที่ราคาสูงขึ้นปริมาณที่ผู้ซื้อต้องการจะต้องลดลง ใน กรณีของข้าวไทยก็จะเห็นได้ว่าเมื่อเราตั้งราคาเอาไว้สูงมาก ความต้องการก็ลดลงเห็นได้จากสถิติการส่งออกของไทย ที่ปริมาณหดตัวลงประมาณ 40% ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐคาดการณ์ว่าปีนี้ประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 6.5 ล้านตันต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งไทยส่งออกข้าวประมาณ 10.5 ล้านตัน และจะเป็นครั้งแรกในรอบ 31 ปี ที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก โดยจะเสียตำแหน่งนี้ให้กับอินเดียและเวียดนาม ที่จะส่งออกข้าวประเทศละ 7 ล้านตันในปีนี้ ทั้งนี้ ประเทศที่ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาก คือ อินเดีย ซึ่งเคยส่งออกข้าวเพียง 2.2 ล้านตันในปี 2010 เพิ่มมาเป็น 4.5 ล้านตันในปี 2011 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก และการที่อินเดียเองก็มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและรัฐบาลยกเลิกนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวที่มีมาในอดีต นอกจากนั้น ประเทศออสเตรเลียและอียิปต์ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกขนาดย่อมที่สามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้อีกประเทศละประมาณ 2-3 แสนตันอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นการพิสูจน์กฎแห่งซัพพลาย (อุปทาน) คือ เมื่อราคาสูงขึ้นปริมาณการผลิตก็เพิ่มขึ้น
 

คำถามที่ต่อเนื่องสำหรับไทย คือ ราคาประกันที่รัฐบาลตั้งเอาไว้นั้นจะเพิ่มการผลิตในประเทศหรือไม่ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ อ.สมพร อัศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจ สรุปความส่วนหนึ่งว่าเขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเกษตรของไทย ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะยาวและมองไม่เห็นในระยะสั้น คือ เกษตรกรจะหันไปปลูกข้าวเนื่องจากได้ราคาดีกว่า “เท่ากับการดึงปัจจัยการผลิตที่ใช้ปลูกพืชอื่นไปปลูกข้าว ทำให้พืชผลอื่นเริ่มหายไปจากท้องตลาดหรือให้ผลผลิตออกมาน้อย” ขณะนี้ คนไทยเริ่มซื้อผักผลไม้อื่นๆ ราคาแพงขึ้นและมีแนวโน้มที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลายอีกเช่นกัน
 

รัฐบาลประกาศนโยบายประกันราคาข้าวที่ราคาสูงและแสดงความพร้อมที่จะซื้อข้าวทั้งหมดในตลาด เห็นได้จากข่าวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จะต้องกู้เงินทั้งสิ้น 269,160 ล้านบาท เพื่อการเข้าแทรกแซงและประกันราคาข้าวและพืชผลอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง หากคำนวณคร่าวๆ ว่าประเทศไทยผลิตข้าวปีละ 30 ล้านตัน (ข้าวเปลือก) และราคาประกันเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ก็แปลว่ามูลค่าการผลิตของประเทศต่อปีประมาณ 450,000 ล้านบาท ทำให้สรุปได้ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างสูง เพราะเงินที่จะใช้มากถึง 269,160 ล้านบาทนั้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด (ในปี 2011 ประเทศไทยส่งออกข้าวครึ่งหนึ่งของผลผลิต) สรุปได้ว่ารัฐบาลพร้อมที่จะกักไม่ให้ซัพพลายข้าวของไทยหลุดเข้าไปในตลาดโลก ซึ่งคงจะเป็นผลจากสมมติฐานว่าหากไทยลดซัพพลายในตลาดโลกลงก็จะต้องทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือ ประเทศไทยมีอำนาจผูกขาดสามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้นั่นเอง ทั้งนี้ ราคาข้าว 100% ของไทยแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อตันกลางปี 2008 ผลจากการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และหลังจากวิกฤติการเงิน 2008 ราคาข้าวก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 400-600 ดอลลาร์ ปีที่แล้ว ราคาข้าวได้ปรับตัวสูงขึ้นจาก 520 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคมเป็น 630 ดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน จากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวได้ปรับตัวลดลงในเดือนธันวาคม และปัจจุบันราคาข้าวอยู่ที่ระดับ 550 ดอลลาร์ต่อตัน
 

ปัญหาคือกระทรวงเกษตรสหรัฐประเมินว่าปีนี้การผลิตข้าวของโลกจะอยู่ที่ 463.7 ล้านตัน (ข้าวสาร) ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้นสต็อกข้าวของโลกในปลายปีนี้ก็จะอยู่ที่ 103.3 ล้านตันสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ในส่วนของการค้า-ขายข้าวในตลาดโลกนั้นกระทรวงเกษตรสหรัฐคาดว่าจะมีปริมาณ 34 ล้านตัน ซึ่งไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 20% (จากการประเมินว่าไทยจะส่งออก 6.5 ล้านตัน) แต่ที่สำคัญ คือ ไทยผลิตข้าวปีละ 20 ล้านตัน จึง น่าจะเป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะสามารถกำหนดราคาข้าวในโลก ซึ่งผลิตข้าวปีละ 463 ล้านตันได้ บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจะต้องอาศัยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ เพราะสหรัฐส่งออกข้าวเพียงปีละ 3 ล้านตัน คำตอบคือชาวนาสหรัฐมีอิทธิพลทางการเมืองสูง ทำให้มีการออกกฎหมายและแนวทางปฏิบัติให้ที่ปรึกษาการเกษตรที่ประจำอยู่ที่สถานทูตสหรัฐทั่วโลกต้องทำรายงานสภาวะการผลิตและการค้าของสินค้าเกษตร เพื่อให้นักวิเคราะห์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐต้องทำรายงานประเมินสภาวะและแนวโน้มสินค้าเกษตรหลักทุกเดือนและนำออกมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้วและเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้
 

สิ่งที่จะท้าทายประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องข้าวในระยะสั้น คือ ผลผลิตข้าวของประเทศจะออกมามากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป กล่าวคือ ไทยจะมีผลผลิตออกมา 20 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 2/3 ของผลผลิตทั้งปี ซึ่งปกติช่วงที่ปริมาณการผลิตออกมามากก็กดดันให้ราคาตกต่ำลง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ในช่วงนั้นรัฐบาลจะต้องสามารถเข้าไปซื้อและเก็บสต็อกข้าวเป็นจำนวนมากเพื่อพยุงราคาเอาไว้ ทำให้จะต้องเริ่มระบายข้าวออกจากสต็อกตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปและหากมีสต็อกอยู่มาก (เพราะส่งออกลดลง) การระบายสต็อกออกไปก็จะทำให้เป็นห่วงว่าจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำและรัฐบาลต้องขาดทุน แต่หากไม่ระบายข้าวออกไปก็ไม่ได้เพราะจะมีข้าวผลิตออกมามากในปลายปี ดังนั้น เรื่องของข้าวและราคาข้าวจึงจะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องติดตามต่อไปครับ