"NEPS" รุกธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขยายฐานลูกค้าบ้าน-โรงแรม-คอนโด

"NEPS" รุกธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขยายฐานลูกค้าบ้าน-โรงแรม-คอนโด

"นิว เอ็นเนอร์จี้ พลัส โซลูชั่นส์" รุกธุรกิจพลังงานโซลาร์เซลล์ ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มบ้าน-โรงแรม-คอนโด แนะรัฐเพิ่มมาตรการจูงใจผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานกรรมการบริหารบริษัท นิว เอ็นเนอร์จี้ พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าน้อยจึงเป็นที่มาที่ทำให้บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี้ พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS ให้ความสนใจเข้าสู่ธุรกิจพลังงานโซลาร์เซลล์ เพราะมีเป้าหมายให้พลังงานทางเลือกกลายมาเป็นพลังงานหลักของคนไทย

หลายปีที่ผ่านมายังไม่มีธุรกิจโซลาร์เซลล์ในไทยมากนักจึงสนใจธุรกิจนี้ 

ไทยถือว่ามีศักยภาพในการขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากเพราะมีแสงแดดเกือบตลอดทั้งปี จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐให้มีส่วนในการสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด 2 แนวทาง คือ 

1.มาตรการรณรงค์ให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งที่ผ่านมาการติดตั้งและราคาแผงโซลาร์เซลล์มีราคาแพงแต่ปัจจุบันถูกลงมาก

2.มาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนประชาชนให้ติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยภาครัฐอาจนำค่าติดตั้งไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งอาจเปิดให้ผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขายไฟฟ้าคืนให้ภาครัฐได้ ซึ่งผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บางรายอาจจะมีมีพื้นที่มากทำให้มีศักยภาพในการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจำนวนมากและมีไฟฟ้าเหลือจากการใช้งาน

ปัจจุบันราคาติดตั้งขนาดเล็กที่สุดที่ NEPS ให้บริการ คือ 3 กิโลวัตต์ มีต้นทุนการติดตั้งที่ 115,000 บาท เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 2,000 บาท จะมีระยะเวลาคืนทุน 7 ปี แต่ถ้าภาครัฐให้การสนับสนุนตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของประชาชนลดลง และจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น

สำหรับปัญหาและอุปสรรคของผู้ที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้า คือ ภาครัฐยังไม่มีมาตรการที่สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการขออนุญาตติดตั้งและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความยุ่งยาก ซึ่งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะต้องขออนุญาตทั้งการผลิตไฟฟ้าและการขออนุญาตดัดแปลงอาคาร

ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ให้บริการรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีบริการในลักษณะ One Stop Service รวมถึง NEPS ที่มีบริการติดตั้งครอบคลุมถึงการขอใบอนุญาตกับภาครัฐ รวมทั้งช่วยออกแบบการติดตั้งให้เหมาะกับแต่ละอาคาร โดยพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน

ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการควบคุมดูแลการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โดยพัฒนาแอพลิเคชั่นติดตามข้อมูลการทำงาน เพื่อติดตามดูข้อมูลปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละวัน รวมถึงการคำนวณมูลค่าไฟฟ้าที่ประหยัดลงได้ การคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ และตรวจสอบได้ว่าแผงใดไม่ทำงานหรือชำรุดจะเข้าสู่กระบวนการซ่อม ซึ่งทีมงานตรวจสอบเบื้องต้นก่อนส่งทีมช่างลงพื้นที่ซ่อมบำรุง

การขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 โดยปรับขึ้นหน่วยละ 68.66 สตางค์ และเมื่อรวมกับค่า Ft ของงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 จะทำให้ค่า Ft อยู่ที่ หน่วยละ 93.43 สตางค์ และทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ประชาชนสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น

ตลาดติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มาแรงในช่วงนี้มี 3 กลุ่ม คือ

1.บ้านพักอาศัย

2.คอนโดมีเนียมประเภท Low Rise

3.โรงแรม

ซึ่ง NEPS เข้าไปทำตลาดทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม รวมแล้วนับตั้งแต่เปิดบริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้ว 28 เมกะวัตต์ 

กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยังคงมีสัดส่วนการติดตั้งสูงที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ เช่น ห้างสรรพสินค้า โชว์รูม โรงเรียนและสนามกอล์ฟ โดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่อัตราการเติบโตน้อยลงและมีการแข่งขันมากขึ้นทำให้ต้องมามองตลาดใหม่

การดำเนินธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันจะต้องปรับบริการให้สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ NEPS ปรับการบริการเป็น 5 กลุ่ม คือ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน สมาร์มโฮม อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการบริการที่เกี่ยวข้องกับหลังคา ซึ่งจะเป็นแนวทางการบริการดังกล่าวเชื่อว่าให้ธุรกิจอยู่รอดได้