55 ปี 'กฟผ.' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

55 ปี 'กฟผ.' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

จากปัญหา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ได้ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทย จากภาวะโลกร้อนมาสู่ภาวะยุคของโลกเดือด กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม

"ประเทศไทย" อยู่ระหว่างปรับปรุง "แผนพลังงานชาติ" ฉบับใหม่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) 3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 4. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยสาระสำคัญของร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จะเน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2065 เพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลก และเตรียมพร้อมพลังงานสะอาดรับการลงทุน รวมถึงมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

"ภาคพลังงาน" ถือเป็นภาคที่ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จึงถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนไฟฟ้าสีเขียวตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ครอบคลุมไปจนถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ใช้ไฟฟ้า 

55 ปี \'กฟผ.\' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

ที่ผ่านมา กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน "โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ" ในพื้นที่ 9 เขื่อนของกฟผ. รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ โดยผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และแบตเตอรี่ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจาก "พลังงานหมุนเวียน" เป็นไปอย่างต่อเนื่องมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นำร่องโครงการใหญ่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้า 47,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกป่า 37,600 ไร่

นอกจากนี้ ยังศึกษาเทคโนโลยี พลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอล นำร่องศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 

กฟผ. สนับสนุนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สู่เมืองท่องเที่ยว ถือเป็นต้นแบบเมืองสีเขียว ด้วยโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้า Solar Cell และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้ พร้อมกับติดตั้ง Solar Farm ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองจากไฟฟ้าสีเขียว

55 ปี \'กฟผ.\' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

พร้อมกับขยาย สถานีชาร์จ Elex by EGAT และรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ไว้ให้บริการประชาชน พร้อมสร้าง "ศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ." แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน พลังงานสะอาด รองรับการท่องเที่ยวสีเขียวแบบครบวงจร

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ พร้อมกับเร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ Elex by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ รถอีวี และเพื่อรองรับการใช้พลังงานแห่งอนาคต กฟผ. ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย รับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาพรวม ผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ

55 ปี \'กฟผ.\' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุกครึ่งชั่วโมงจนถึงอีก 7 วันข้างหน้า ช่วยบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังนำร่องปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล เพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพอีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อรองรับนโยบายดึงดูการลงทุนตามกลไกยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล ด้วยใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือ REC เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าโรงงานหรือบริษัทนั้นใช้พลังงานสีเขียว เป็นกลไกสำคัญตอบโจทย์นักลงทุน โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มอบสิทธิ์ให้ กฟผ. เป็นผู้ออกใบรับรอง REC รายเดียวของประเทศไทย 

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี กฟผ. ได้ออกใบรับรอง REC ให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยแล้วหลายล้าน REC และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกปีตามความต้องการของบริษัทชั้นนำต่างๆ ในการเข้าถึงพลังงานสะอาดเดินหน้าสู่สังคมสีเขียว

"กฟผ." ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ จึงเริ่มต้นจากการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรได้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการ "ใช้อย่างรู้คุณค่า" การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า

พร้อมรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่นอกจากดาวยิ่งมากยิ่งประหยัดไฟแล้ว ยังสามารถแสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการเพิ่ม พื้นที่สีเขียว ของประเทศภายใต้โครงการปลูกป่าที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเน้นการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลนอย่างมีคุณภาพ พร้อมต่อยอดสู่โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมตามเป้าหมาย 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565-2574) สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลบำรุงรักษาป่าที่ปลูกให้เติบโตอย่างยั่งยืน คาดว่าตลอดระยะเวลาของโครงการฯ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 23.6 ล้านตัน 

ความพยายามในการ "ลดคาร์บอน" ไม่ใช่เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างจริงจัง "กฟผ. ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง" สำคัญทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาชีวิตของชุมชนให้อยู่ดีมีสุข เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

55 ปี \'กฟผ.\' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน