หนุนเดินหน้า เร่งลงทุน “4 โครงการหลักอีอีซี” … ลุ้นไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

หนุนเดินหน้า เร่งลงทุน “4 โครงการหลักอีอีซี” … ลุ้นไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

ติดตามความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี ซึ่งได้มีการลงนามเซ็นสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนครบไปแล้วทั้ง 4 โครงการ ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

และสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 เงินลงทุนโครงการ 47,900 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน มีความคืบหน้า 69.64% มากกว่าโครงการอื่น คาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว เสร็จและเปิดบริการต้นปี 2570 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นการส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 เงินลงทุนโครงการ 84,360 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน มีความคืบหน้างานก่อสร้างท่าเทียบเรือและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่าย 13.26% ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย คาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการปลายปี 2570 และเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ มีศักยภาพเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับคอนเทนเนอร์จาก 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี

ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุนโครงการ 224,544 ล้านบาท รอเอกสารเริ่มต้นงานภายใน 22 พ.ค.67 ปัจจุบันโครงการยังล่าช้ากว่าแผน ซึ่งระบุว่าจะมีการเปิดให้บริการในปี 2568-2569 ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเจรจาขอแก้ไขสัญญาร่วมทุนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งเผชิญโควิด-19 ทั้งนี้ การรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP หรือ Notice to Proceed) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มก่อสร้างโครงการ

‘อู่ตะเภา’ พร้อมตอกเสาเข็มปีนี้ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท มีความพร้อมด้านเงินทุนในการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะได้รับหนังสือให้เริ่มงานเพื่อเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570-2571 ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณเที่ยวบินและความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง อย่างไรก็ดี การส่งมอบ NTP และเริ่มก่อสร้างโครงการ มีเงื่อนไขที่จะต้องได้ข้อสรุปไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เพราะทั้ง 2 โครงการมีโครงสร้างร่วมที่ต้องตกลงรูปแบบก่อสร้างกันให้ชัดเจน

กล่าวโดยสรุป จากการติดตามความคืบหน้า "4 เมกะโปรเจ็กต์หลักอีอีซี" พบว่า โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มีความคืบหน้ามากกว่าโครงการอื่น สะท้อนว่าโครงการนี้มีแนวโน้มสำเร็จในการดำเนินงาน ตามด้วยโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่มีแนวโน้มสำเร็จตามมา ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แม้ยังมีความล่าช้าในการดำเนินโครงการอยู่บ้าง แต่ก็คาดหวังว่าทั้ง 2 โครงการนี้จะพร้อมเดินหน้าเร่งลงทุนในปี 2567

การลงทุนร่วมภาครัฐและภาคเอกชนหรือพีพีพี ยังมีความจำเป็นต่อการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาว ขณะที่ภาครัฐเองก็ตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญดังกล่าว จึงพยายามออกมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้เร็ว หลายฝ่ายจึงคาดหวัง "4 เมกะโปรเจ็กต์หลักอีอีซี" จะมีการเร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการปักหมุดโครงการใหญ่ที่เข้ามากระตุ้นพื้นที่โดยรอบและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอีอีซีให้คึกคักขึ้น