เศรษฐกิจโลกและไทยในความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น เหตุการณ์ที่ 2 ได้แก่ เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีเกินคาด และ เหตุการณ์ที่ 3 สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่จะลดดอกเบี้ยช้าลง

ณ เม.ย. 2024 มี 3 เหตุการณ์ที่ทำภาพเศรษฐกิจและนโยบายการเงินโลกเปลี่ยนไป เหตุการณ์แรก ได้แก่ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น เหตุการณ์ที่ 2 ได้แก่ เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีเกินคาด และ เหตุการณ์ที่ 3 สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่จะลดดอกเบี้ยช้าลง 

ในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาสรุนแรงมากขึ้น โดยล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อิสราเอลได้ทำการโจมตีดินแดนอิหร่านในวันที่ 19 เม.ย.ด้วยโดรน ขณะที่สำนักข่าวฟาร์นิวส์ของอิหร่านรายงานก่อนหน้านี้ว่า มีเสียงระเบิดเกิดขึ้น 3 ครั้งใกล้กับฐานทัพทหารซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอิสฟาฮาน

การโจมตีครั้งนี้ยืนยันมุมมองของเราที่ว่า ขณะนี้ความรุนแรงได้เคลื่อนเข้าสู่สถานการณ์ Shadow war หรือสงครามเงา ตามที่เราได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ เรายังคงยืนยันมุมมองเดิมว่า ในช่วงนับจาก 1 เดือน จนกระทั่งก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ความรุนแรงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจเข้าสู่สถานการณ์สงครามตัวแทน (Proxy war) เต็มรูปแบบ 

สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ทำให้เราปรับมุมมองการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ น้ำมัน เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย โดยเรามองว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2024 จะอยู่ในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับขึ้นจาก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่เราเคยคาดไว้ก่อนหน้า ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดดอกเบี้ยได้น้อยครั้งลง (โดยเหลือ 2 ครั้ง) ธนาคารกลางยุโรป ลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง (จาก 4 ครั้ง) ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจไม่ลดดอกเบี้ยได้เลยทั้งปีนี้ 

เหตุการณ์นี้ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยในปัจจุบัน แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกดูดีขึ้น แต่ความเสี่ยงวิกฤตการเงินและ/หรือเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยหากพิจาณาสัญญาณเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะจากการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ของ IMF ขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก หรือจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่มีสัญญาณดูดีขึ้นในทุกเศรษฐกิจหลักของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งของภาพเศรษฐกิจโลกที่ดูดีขึ้นเป็นผลจากเงินเฟ้อที่ลดลง (โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐและยุโรป) ทำให้รายได้หลังหักเงินเฟ้อของประชาชนเพิ่มขึ้น 

และจากอีกส่วนจากสินค้าคงคลังที่หมดลง ทำให้วัฎจักรการผลิตเริ่มกลับมา โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมโลก (โดยเฉพาะใน 10 ประเทศหลักที่เราติดตาม) เริ่มกลับมาเป็นบวกจากที่เคยติดลบต่อเนื่องในปีที่แล้ว แต่เรากังวลวิกฤตการเงิน/เศรษฐกิจ (จากดอกเบี้ยสูง) มีมากขึ้น โดยในสหรัฐ การผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ 

ขณะที่ในต่างประเทศ เรากังวลความเสี่ยงเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากเงินเฟ้อของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะยังคงสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้ดอกเบี้ยของสหรัฐต้องตรึงไว้ที่ระดับสูงยาวนานท่ามกลางดอกเบี้ยของประเทศอื่นที่จะลดลงเร็วกว่า กระแสการแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetary divergence) จะนำไปสู่กระแสค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าท่ามกลางสกุลอื่นทั่วโลกที่อ่อนค่าลง โดยล่าสุด ค่าเงินในเอเชีย เช่น เยน บาท วอน ดอลลาร์ไต้หวัน รวมถึงรูเปียะห์อินโดนีเซีย อ่อนแล้วกว่า 6-7% นับจากต้นปี 

นอกจากนั้น ความเสี่ยงวิกฤติการเงินและ/หรือเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ มีมากขึ้น โดยหากพิจารณาจากสภาวะที่ 4 สินทรัพย์ อันได้แก่ ราคาน้ำมัน ผลตอบแทนพันธบัตร ราคาทองคำ และค่าเงินดอลลาร์ ปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกัน เห็นไม่ง่ายนัก และมักนำไปสู่ความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เช่น ราคาน้ำมันทั้ง Brent และ WTI ที่ปรับขึ้นมากว่า 14-17% ตั้งแต่ต้นปี จะนำมาซึ่งความเสี่ยงเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยต้องสูงยาวนานขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรทั้ง 2 และ 10 ปี จึงปรับขึ้นมาในระดับ 15-17% เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ราคาทองคำควรจะลดลง แต่กลายเป็นว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่แรงขึ้น จึงยังทำให้ทองคำยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์ที่เป็นทั้งสินทรัพย์ปลอดภัย และได้รับผลจากดอกเบี้ยสูงยาวนาน ซึ่งเมื่อสถานการณ์หนึ่งใดเปลี่ยน ราคาของบางสินทรัพย์อาจปรับลดลงแรง และทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนก (panic sell) ได้ 

ด้านเศรษฐกิจไทย เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่กรอบล่างที่ 2.5% ของประมาณการในเดือน มี.ค. โดยเรามองว่า (1) ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ทำให้ภาระของกองทุนน้ำมันมีมากขึ้น ราคาน้ำมันในประเทศจึงอาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง (สมมุติฐานราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1 บาท) (2) นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และไม่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ (3) การเบิกจ่ายนโยบายการคลังที่ต่ำกว่าคาด เพราะภาครัฐจะนำเงินไปใช้ในโครงการ Digital Wallet (DW) โดยเราให้ DW เป็น Upside risk ของเศรษฐกิจไทยแต่ไม่ได้อยู่ในสมมุติฐานหลัก

ในส่วนกลยุทธการลงทุน เรามองว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง จากกังวลสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและ Fed ที่อาจปรับลดดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้เดิม ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนํา “Selective Buy” ใน 4 ธีมหลัก ดังนี้ 

(1) หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เราแนะนำ PTTEP BCP และ TOP ขณะที่มองลบต่อกลุ่มค้าปลีกน้ำมัน และกลุ่มสายการบิน 

(2) นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และผลประกอบการไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจ เช่น หุ้นการแพทย์ (BDMS BCH) หุ้นขนส่งทางบก (BEM) หุ้นค้า ปลีก (CPALL CPAXT) หุ้นสื่อสาร (ADVANC) หุ้นอสังหาปันผลดี (AP) 

(3) หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q67 จะมีอัตราการเติบโตดี ซึ่งจะประกาศในช่วง 2 สัปดาห์หน้านี้ เลือก SCGP HMPRO 

(4) นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกําไรสําหรับหุ้นที่ราคาปรับลงแรง แต่พื้นฐานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง เลือก GPSC GULF SPRC CRC MTC

ขอให้นักลงทุนโชคดี