6 หน่วยงานรัฐ ผนึกปั้น 62 หลักสูตร ปูพื้นนักเรียนทุกชั้น เข้าใจเรื่องการเงิน

6 หน่วยงานรัฐ ผนึกปั้น 62 หลักสูตร ปูพื้นนักเรียนทุกชั้น เข้าใจเรื่องการเงิน

6 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย สศค.-ศึกษา-แบงก์ชาติ-กลต.-คปภ.-ตลท. ร่วมเซ็นเอ็มโอยู ปั้น 62 หลักสูตรการเงิน ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ เข้าสู่ระบบการศึกษาทุกระดับชั้น ปูพื้นฐานคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน (Financial Well-being)

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 เม.ย.67) ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษา ร่วมกับอีก 5 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

โดยมีผู้ร่วมลงนาม ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้อำนวยการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท., นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการตลท., นายอดิศร  พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการคปภ. และนายภากร  ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลท. ณ บริเวณโถงหน้าห้องภัทรรวมใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายพรชัย กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง 6 หน่วยงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินในการผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา เพื่อส่งต่อความรู้ทางการเงินให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้นการศึกษา ให้สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับช่วงวัย มีค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง รู้จักบริหารจัดการเงินอย่างเหมาะสม ลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น สร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงทางการเงิน เสริมสร้างทักษะด้านการเงินดิจิทัล

รวมถึงสามารถป้องกันและจัดการความเสี่ยงหรือภัยที่เกิดจากการเงินดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม อันเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญของเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ นำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของประชาชนคนไทย (Financial Well-being) ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

 

 

นอกจากนี้ สศค.ได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เพื่อผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2567 (แผนปฏิบัติการฯ) อาทิ การจัดทำกรอบสมรรถนะทางการเงิน การพัฒนากฎระเบียบสำหรับข้าราชการบรรจุใหม่และผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

โดยหน่วยงานต่างๆ ได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวม 62 โครงการ ซึ่งการรวมพลังของหน่วยงานพันธมิตรในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Well-being) และจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศตามแผนปฏิบัติการฯ ได้อย่างยั่งยืน