มองต่างมุม จุลพันธ์ - ศิริกัญญา 'ดิจิทัลวอลเล็ต' พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่?

มองต่างมุม จุลพันธ์ - ศิริกัญญา 'ดิจิทัลวอลเล็ต' พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่?

เปิดต่างมุมมอง "ดิจิทัลวอลเล็ต" โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาล มูลค่า 5 แสนล้าน ความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นและเติบโตเต็มศักยภาพ

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นหนึ่งโครงการเรือธงของรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ที่หลายคนเฝ้าจับตามองตั้งแต่มีการประกาศเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งไทม์ไลน์ของโครงการมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการมูลค่า 5 แสนล้าน ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียง

"กรุงเทพธุรกิจ" ชวนอ่านมุมมองจาก 2 ฝ่าย ที่มีความเห็นต่างกันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นได้หรือไม่

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นโครงการที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเยอะที่สุดเรียกได้ว่าเทหมดหน้าตัก คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3% ของจีดีพี ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการเดียวที่รัฐบาลจะมีเม็ดเงินขนาดนี้ที่จะใช้กระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้มากขนาดนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมารัฐบาลประเมินว่าจะอยู่ที่ 1.6% ของจีดีพีเท่านั้น เมื่อเทียบกับคาดการณ์จีดีพีฐานซึ่งอยู่ที่ 3.3% รวมกันแล้วก็ได้แค่ 4.9% ดังนั้นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะทำให้จีดีพีโตเฉลี่ยได้ถึง 5% ก็มองว่าเป็นไปได้น้อยมาก

"ไม่เถียงว่าในเวลานี้เศรษฐกิจอาจต้องการให้มีการกระตุ้นอยู่บ้าง สะท้อนจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รายได้เกษตรกรที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 รวมถึงยอดขายรถจักรยานยนต์ และรถกระบะที่ติดลบต่อเนื่อง สะท้อนว่าเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้นให้มีกำลังการจับจ่ายใช้สอย"

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นที่ว่าควรเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว แต่โครงการก็ล่าช้าไปอีก 6 เดือนข้างหน้า จึงไม่ทันกับสถานการณ์ และเมื่อพิจารณาการใช้นโยบายอัดฉัดเงินในระบบ ที่หลายประเทศเคยทำก็พบว่าผลของนโยบายอาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียงช่วงไม่กี่ไตรมาสแรกแล้วกลับมาฟุบลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะจุดเศรษฐกิจติด แล้วทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้

ชี้ความเสี่ยงการคลัง

นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังจะทำให้ช่องว่างทางการคลังลดน้อยลง ด้วยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเป็น 67% อีก 3% ก็จะต็มเพดาน ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจ่ายจะพุ่งขึ้นไปถึง 5 แสนล้านบาท ในงบประมาณรายจ่ายปี 2571

นอกจากนี้ หากบริษัทเครดิตเรทติ้งประเมินว่าไทยมีสถานะการคลังที่อ่อนแอ ก็อาจมีการตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปยังต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชน ทั้งนี้มองว่ายังมีเครื่องมืออย่างอื่นอีกมากที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และได้ผลมากกว่านี้

“ทุกอย่างมีต้นทุน ผลที่จะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายอย่างมือเติบของรัฐบาลก็เหมือนกับหนี้ครัวเรือน ถ้าใช้จ่ายโดยไม่ดูความสามารถในการชำระหนี้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย สำหรับหนี้รัฐบาลสิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ไม่เหลือพื้นที่ว่างของงบประมาณที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill Reskill เมื่อไหร่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้หากงบประมาณร่อยหลอจากการใช้คืนดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้มาเพื่อทำโครงการ”

ย้ำดิจิทัลวอลเล็ตจำเป็น

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระชากให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะซึมยาวมาโดยตลอด ได้หันหัวขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามากระตุ้น และยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ทั้งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยวซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายเหล่านี้ต้องดูแบบเป็นองค์รวม จะดูแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เมื่อประกอบเข้าด้วยกันจึงเป็นปัจจัยที่เพียงพอในการสร้างแรงขับให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตต่อไปข้างหน้าได้

นายจุลพันธ์ กล่าวตอว่า ด้วยระบบของดิจิทัลวอลเล็ตที่สามารถกำหนดการใช้งานได้ แตกต่างจากการแจกเงินแบบ Helicopter Money หรือโปรยเงินสู่มือประชาชน ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีมานานแล้วและประเทศไทยก็เคยทำ ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับนึง แต่มีข้อสงสัยว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากเพียงใด เกิดผลคูณทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าหรือไม่ 

ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการใช้กลไกบล็อกเชน จึงเชื่อว่าจะสามารถให้คำตอบเกี่ยวผลลัพธ์ของมาตรการได้ ถ้าดิจิทัลวอลเล็ตทำสำเร็จ จะเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับโลกในเรื่องการผลิตนโยบายทางการคลัง แม้จะทำยากแต่ก็จำเป็นต้องทำ วันนี้ประเทศไทยต้องการนวัตกรรมทางการเงินและการคลังใหม่ๆ เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

"ในอดีตเองก็มีคนตั้งข้อสงสัยเรื่อง นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน แต่นโยบายเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงเชื่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการกำหนดนโยบายการคลังอย่างตรงเป้า"