'ภูมิรัฐศาสตร์' กดดันส่งออก   ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

'ภูมิรัฐศาสตร์' กดดันส่งออก   ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

สรท.คาดส่งออกไทยครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก จับตาสงครามตะวันออกกลางกระทบส่งออกไตรมาส 3 เชื่อทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 1-2% ขณะที่ “พาณิชย์” เร่งกลยุทธ์ดันส่งออก 5 แนวทาง เปิดประตูการค้าใหม่ เร่งทำเอฟทีเอ ดันซอฟพาวเวอร์ เศรษฐกิจหมุนเวียน

การส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อมาจากปี 2566 ที่อาจมีผลต่อต่อราคาพลังงานและค่าระวางเรือที่เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญระหว่างเอเชียและยุโรป

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เหตุการณ์โจมตีระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ที่แม้จะสงบลงแต่ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากมีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นย่อมกระทบการส่งออกของไทยไปตะวันออกกลาง อีกทั้งต้องดูว่าจะกระทบต่อการขนส่งทางทะเลผ่านเส้นทางทะเลแดงหรือไม่

ขณะนี้กังวลและเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่กำลังเติบโตดีต่อเนื่องมีสัดส่วนส่งออก 5-7% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย โดยมี 2 ประเด็นที่น่าต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ

1.ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แม้ยังไม่กระทบเพราะสินค้าคำสั่งซื้อในไตรมาส 2 ได้สรุปเสร็จแล้ว รวมทั้งหลังเทศกาลรอมฎอนสิ้นสุดวันที่ 10 เม.ย.2567 เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบการส่งออกของไทยระยะต่อไป คาดว่าคำสั่งซื้อสินค้าจะค่อยๆ ลดลง

นอกจากนี้หากสถานการณ์ปลายปลายมีการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงและมีการหยุดเดินเรือ จะทำให้สถานการณ์กลับมาเหมือนช่วงปลายปี 2566 ซึ่งจะกระทบการขนส่งสินค้าไปยุโรปและประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

\'ภูมิรัฐศาสตร์\' กดดันส่งออก   ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

2.ราคาน้ำมันที่อาจปรับสูงขึ้น ปัจจุบันราคาน้ำมันเคลื่อนไหวแตะ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอีก ซึ่งจะกระทบต้นทุนธุรกิจ แต่ยังประเมินว่าไม่น่าจะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะเศรษฐกิจยังชะลอตัวและภาคการผลิตในประเทศสำคัญยังไม่ฟื้นเท่าที่ควรทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เพิ่มขึ้นมาก

“ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากรุนแรงขยายวงกว้างน่ากังวลการส่งออกไทยต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 โดยเดือน เม.ย.-พ.ค.การส่งออกของไทยยังไปได้ดีเพราะสรุปคำสั่งซื้อไปแล้ว จึงหวังว่าสถานการณ์จะยุติโดยเร็ว และขณะนี้ผลกระทบยังอยู่ในตะวันออกกลาง แต่หากยังไม่ยุติ กลับรุนแรงขยายวงกว้าง จะกระทบการส่งออกไทยในตลาดที่อยู่ใกล้เคียงได้” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ค่าระวางเรือหลังเหตุโจมตีล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบพบว่า ค่าระวางเรือยังคงปกติและยังไม่ได้รับรายงานหยุดเดินเรือในพื้นที่ดังกล่าว แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปเพราะคาดเดาได้ยาก

ทั้งนี้ สรท.ได้จับตาสถานการณ์เป็นพิเศษและประเมินเป็นระยะ และหากมีผลกระทบจะหารือกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางทางลดผลกระทบ

นอกจากนี้ ค่าระวางเรือในปัจจุบันถือว่าเข้าอยู่ภาวะปกติหลังจากมีวิกฤติในทะเลแดง บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งค่าในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้ค่าระวางเรือสูงขึ้น 4-5 เท่าหรือประมาณ 4,000-5,000 ดอลลาร์ ต่อตู้ขนาด 20 ฟุต 

ทั้งนี้ ที่ยังไม่รวม Surcharge อีกประมาณ 1,000 ดอลลาร์ ต่อตู้ขนาด 20 ฟุต ปัจจุบันราคาค่าระวางปรับลดลง 1-2 เท่า หรือประมาณ 2,000 ดอลลาร์ ต่อตู้ขนาด 20 ฟุต ซึ่งช่วยผ่อนคลายต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง

\'ภูมิรัฐศาสตร์\' กดดันส่งออก   ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

“ภูมิรัฐศาสตร์-โลกเดือด-ศก.โลก” ฉุดส่งออก

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การส่งออกมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ภายใต้ความกดดันจากปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอน อาทิ 

1.Geopolititcs ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อย่างสงครามอิสราเอล-ฮามาส และสถานการณ์ทะเลแดง สงครามยูเครน-รัสเชีย ที่จะมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับที่สูง หากสงครามยังยืดเยื้อต่อไป 

2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยางพาราและผลไม้ 

3.การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ มีปัจจัยพื้นฐานอื่นที่ส่งผลกระทบสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งยังมีสัญญาณที่ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศส่งสัญญาณคลายความเข้มงวดเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2567 โดยพิจารณาจากทั้งปัจจัยภายนอกอย่างความผันผวนของค่าเงินบาทที่อยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกแต่ต้องให้สอดคล้องกับค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่ง

คาดส่งออกทั้งปี 2567 เติบโต 1-2%

ดังนั้น การส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังยังเติบโตในกรอบแคบๆ ตามแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก การส่งออกของสินค้าเด่นๆ ในครึ่งปีหลังจะเหมือนกับครึ่งปีแรก ได้แก่ 

1.ยางพารา ที่มีอุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้น ด้านอุปทานจะชะลอตัวลงจากสถานการณ์สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

2.ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกค์ที่จะได้จากการย้ายฐานการผลิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

3.ผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนที่ต้องรักษามาตรฐานคุณภาพเพื่อจำหน่ายในราคาสูง ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกปลายเดือน เม.ย.และต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 

สำหรับการส่งออกครึ่งปีหลังจะใกล้เคียงครึ่งปีแรกที่ 143,000-144,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้การส่งออกปี 2567 เติบโต 1-2% โดยผู้ส่งออกต้องผลักดันการขยายตลาดส่งออกไปตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย เอเซียกลาง

เสนอเพิ่มมาตรการสนับสนุนการส่งออก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนประสานงานกันต่อเนื่อง โดยในอนาคตทางภาครัฐอาจจะช่วยสนับสนุนผู้ส่งออก ประกอบด้วย 

1.การช่วยสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้ส่งออกในการขยายตลาดใหม่ 2.การเร่งสนับสนุน Soft power ในต่างประเทศจะช่วยส่งเสริมสินค้าอาหาร เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งและ SPA เป็นอย่างมาก 

3.ช่วยสนับสนุนให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและดอกเบี้ยที่ต่ำ 4.สนับสนุนงบประมาณให้ผู้ส่งออกที่ต้องการปรับระบบการผลิตให้ทันสมัย และตอบโจทย์การอนุรักษ์พลังงานและตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมจากคู่ค้า โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่จะเข้มข้นขึ้น

\'ภูมิรัฐศาสตร์\' กดดันส่งออก   ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

หอการค้าจับตาท่าทีสหรัฐต่อตะวันออกกลาง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสงครามอิร่านและอิสราเอลว่า ถือเป็นความเสี่ยงที่ภาคเอกชนประเมินว่าอาจเกิดขึ้นในปีนี้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์แม้จะชะลอความรุนแรงลงจากวันแรกที่มีการโจมตี แต่ต้องจับตาดูท่าทีของประเทศอื่น เช่น สหรัฐและซาอุดิอาระเบีย

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ น้ำมันและการขนส่งทางเรือ ทั้งนี้จุดอันตรายทางภูมิศาสตร์และการค้าโลกอยู่ที่ การปิดช่องแคบ ฮอร์มุส ซึ่งคั่นกลางระหว่าง หากอิหร่านถูกกดดันจนถึงทางตันอาจปิดช่องแคบดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อการเดินเรือและการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และวิกฤติการณ์จะพัฒนาต่อไปเป็นปัญหาในระดับโลก

สำหรับภาคเอกชนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลกับเรื่องของ การขนส่งสินค้าและ จำนวนคำสั่งซื้อในไตรมาสถัดไป รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะผันผวนไปด้วย

“พาณิชย์” ชูกลยุทธ์ 5 แผนรับมือปัจจัยเสี่ยง

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี 

แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก เช่น จีน สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า รวมถึงภัยแล้งที่กระทบอุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป โดยยังคงคาดการณ์การส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1-2 % เช่นเดิม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้วาง 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ประกอบด้วย

1.การเปิดประตูโอกาสทางการค้าเชิงรุกสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพควบคู่การรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เจาะตลาดเมืองรองศักยภาพ บูรณาการการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัดเข้มข้นขึ้น เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก

2.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการส่งออกด้วยแบรนด์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสอดแทรกคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมุ่งผลักดัน 11 สาขา Soft power เป้าหมาย รุกสู่เวทีโลก 

3.การผลักดันภาคธุรกิจไทยปรับตัวเข้าสู่การค้าโลกในยุคดิจิทัลและส่งเสริม Cross-border E-Commerce

4.การสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม โดยเดินหน้าบ่มเพาะผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG และส่งเสริมออกสู่ตลาดโลก 

5.การยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (Logistics Service Providers) และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค