ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผย เศรษฐกิจฟื้นช้า ราคาพลังงานสูง ทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.67 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน2,244 คนพบว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกมี.ค. 67 ปรับตัวลดลงจากระดับ 63.8 เป็น 63.0 เป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนส.ค.2566  ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 56.9   ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่59.8  และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 72.2  โดยดัชนีทุกตัว ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการ

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่าง การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส (Hamas) สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง รวมถึงบริเวณทะเลจีนใต้เริ่มมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าซึ่งอาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าหรือชะลอตัวลงและอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

“ดัชนีเดือนมี.ค. ปรับตัวเล็กลงเล็กน้อยจากก.พ. และลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แสดงว่าเศรษฐกิจที่หลายคนคาดหวังว่าจะโต และฟื้นตัวดีขึ้น แต่บรรยากาศมีการแผ่วแรงในเดือนมี.ค.”นายธนวรรธน์ กล่าว

สาเหตุสำคัญมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ   1.สถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มสูง โดยเฉพาะเบนซิน ค่าครองชีพสูง และ 2. เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ไม่คึกคัก ไม่โดดเด่น พืชผลทางการเกษตรที่ออกสู่มือเกษตรกรไม่มาก ผลผลิตทางการเกษตรยังติดลบจากปัญหาภัยแล้ง ดังนั้น ราคาพืชผลเกษตรสูง แต่รายได้เกษตรกรยังติดลบ  ทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจทุกภูมิภาคไม่คึกคัก  ประกอบกับการที่งบประมาณแผ่นดินยังไม่ถูกใช้แม้ว่ารัฐบาลเริ่มมีสัญญาณที่จะเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 67  ในเดือนเม.ย. 67  ดังนั้น สัญญาณที่เกิดขึ้นในเดือนมี.ค. จึงเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ดูแผ่วลง คาดโต 1.5-2.0% จากเดิมที่คาดไว้จะโต 1.8-2.2 %

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯยังมองว่า  ภาพของความเชื่อมั่นยังมีสัญญาณที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ และมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง จากดัชนีที่ปรับตัวดีขึ้นมาตลอด 7 เดือน ทำให้ดัชนีเฉลี่ยในไตรมาส 1 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น

ทั้งนี้การดรอปลงของความเชื่อมั่นในเดือนมี.ค. เชื่อว่าน่าจะถูกเบรคสัญญาณโดยเทศกาลสงกรานต์ งบประมาณแผ่นดิน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต  การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่องบประมาณขับเคลื่อนในเดือนเม.ย.โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนประมาณ 3-4 แสนล้านที่จะถูกหมุนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาในครึ่งปีหลัง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือน มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวลงเล็กน้อย โดยอยู่ที่ 55.2 จากที่เดือนก.พ.อยู่ที่ 55.0  โดยยังมีความกังวลกับสถานการณ์ความขัดแยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวสูง ปัญหาฝุ่น PM2.5   เป็นต้น อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเพราะดัชนีทุกภาคเกินกว่าระดับ 50  ซึ่งเกิดจากปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น