เร่งยกระดับศักยภาพ EEC ด้วยแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

เร่งยกระดับศักยภาพ EEC ด้วยแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy คือ แนวคิดการผลิต และการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) การซ่อมแซม (Repair) การปรับปรุงใหม่ (Refurbish) การผลิตใหม่ (Remanufactured) และการรีไซเคิล (Recycle)

ซึ่งจะทำให้วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ยาวนานมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตอบโจทย์ Net zero emission

เศรษฐกิจหมุนเวียนนับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์โลกที่กำลังได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน โดยรายงาน The Circularity Gap Reports 2024 ชี้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง และมีบทความเกี่ยวกับแนวคิดนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ขณะที่ PwC ระบุว่า ปัจจุบันนี้มีแผนยุทธศาสตร์หรือกฎเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชาติมากกว่า 50 แผนงาน และมีนโยบายที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 520 รายการทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการกำหนด Circular Economy Action Plan (CEAP)

ด้านภาคธุรกิจก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้ สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดโดย Bain & Company ที่ชี้ว่า 55% ของธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกกำลังยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในการขับเคลื่อนธุรกิจ ส่วนภาคการเงินก็เดินหน้าสนับสนุนเงินทุน และการลงทุนที่เกี่ยวข้อง เช่น BlackRock ออก Circular Economy Fund เพื่อลงทุนในบริษัทระดับโลกที่มีโอกาสจากเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยล่าสุดมีสินทรัพย์ภายใต้การลงทุนกว่า 1,505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศไทย กำลังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนเช่นเดียวกับเทรนด์โลก ภายใต้การส่งเสริม “BCG economy” ซึ่งในอนาคตยังมี Room ที่จะพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่สามารถนำร่องโมเดลธุรกิจ และนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร เช่น ในมิติการบริหารจัดการขยะ และกากอุตสาหกรรม

เพื่อรับมือกับปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้น ดังที่สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดการณ์ว่าปริมาณขยะในพื้นที่ EEC จะเพิ่มขึ้นจาก 9.15 ล้านตัน ในปี 2559 เป็น 20.08 ล้านตัน ในปี 2580 หรือโตเฉลี่ยปีละ 3.8% (CAGR) ขณะที่ข้อมูลล่าสุดในปี 2565 จากกรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่าจังหวัดในพื้นที่ EEC มีปริมาณขยะที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 12% ของปริมาณปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ประเทศไทยต้องเร่งขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มขั้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อลดความท้าทายจากกฎระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพื่อให้มีพัฒนาการที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ หลังผลประเมิน Green Future Index ล่าสุดโดย MIT Technology Review

ในด้านที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ความพยายามในการรีไซเคิล (Recycling efforts) พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 31 ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งอยู่อันดับที่ 15 และ 27 ตามลำดับ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเร่งดำเนินกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อปูทางสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์