ระวัง “เงินเฟ้อ” แอบแฝง | วรากรณ์ สามโกเศศ

ระวัง “เงินเฟ้อ” แอบแฝง | วรากรณ์ สามโกเศศ

ในการเลือกซื้อสินค้า  เรามักยึดติดราคาสินค้ามากกว่าราคาต่อหน่วยปริมาณหรือน้ำหนัก ซึ่งตัวเลขนี้ต้องมาจากการคิดวิเคราะห์ การต้องใช้สมองเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่ชอบ ซึ่งความจริงนี้ทำให้ผู้ขายใช้เป็นกลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาแต่ไปลดปริมาณแทน  

การกระทำเช่นนี้ทำให้ผู้บริโภคเสียรู้ และที่สำคัญด้วยก็คือทำให้ลดความแม่นยำของสถิติราคาสินค้าที่สูงขึ้น จนอาจนำไปสู่การใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดก็เป็นได้

หากเราซื้อสบู่แบรนด์หนึ่งในราคาก้อนละ 40 บาท    เวลาผ่านไปแต่ก็ยังยืนราคา 40 บาทอย่างเดิม    ผู้บริโภคก็พอใจซื้อต่อไปเป็นปกติโดยหารู้ไม่ว่าโดยแท้จริงแล้วราคามันแพงขึ้นกว่าเก่า

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสบู่มีขนาดเล็กลงแต่ราคายังคงเดิม   หากคำนวณเป็นราคาต่อหน่วยของน้ำหนักสบู่ก็จะมีตัวเลขสูงขึ้นอย่างชัดเจน  การเป็นคนยึดติดราคาจึงทำให้ “โดนหลอก”

ราคาเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้คนเพราะหากของมีราคาสูงขึ้น    เงินจำนวนหนึ่งก็จะซื้อของได้น้อยลง  และถ้าราคาของสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะอยู่ในฐานะลำบาก     หลายประเทศเคยประสบสภาวการณ์เช่นนี้ที่เรียกกันว่า “เงินเฟ้อ”

ลองดูสกุลเงินที่ใช้กันในปัจจุบันก็พอเดาได้ว่าเคยมีเงินเฟ้ออย่างร้ายแรงในอดีต    เช่น     เงินกีบของลาว      เงินเยนของญี่ปุ่น    เงินเรียลของกัมพูชา    เงินรูปีของอินโดนีเซีย   ฯลฯ   กินข้าวกันมื้อหนึ่งจ่ายเงินเป็นแสนเป็นล้าน

              ในทางวิชาการคำว่า “เงินเฟ้อ” (inflation) หมายถึงสภาวการณ์ที่ราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มันเป็นสภาวการณ์ที่มิใช่การสูงขึ้นของราคาเป็นครั้งคราว    

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันคำว่า       “เงินเฟ้อ” ที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน หมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั่วไป โดยไม่ได้หมายถึงสภาวการณ์เพิ่มขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง     เพียงการเพิ่มขึ้นของราคาในช่วงเวลาหนึ่งก็เรียกว่า “เงินเฟ้อ”    แม้แต่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าชนิดหนึ่งก็เรียกว่า “เงินเฟ้อ” ของสินค้าชนิดนั้น

ขอกลับมาเรื่องการแพงขึ้นของสินค้าโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากปริมาณลดลง   ฝรั่งมีคำเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “Shrinkflation” (shrink หมายถึง หด หรือเล็กลง + inflation) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ดังที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันอย่างดาษดื่น หากทำกันมานมนานเป็นร้อย ๆ ปี หรืออาจพันปีแล้วด้วยซ้ำ  

“Shrinkflation” เป็นกลยุทธ์ของผู้ขายเพื่อหลีกหนีการต้องขึ้นราคาสินค้า ซึ่งอาจเป็นความจำเป็นจากต้นทุนสูงขึ้น หรือต้องการได้กำไรต่อหน่วยสินค้าสูงขึ้น    

ลักษณะที่เห็นเช่น  

(ก) เป่าลมในถุงอาหารจั๊งค์ฟู้ดให้มีขนาดเท่าเดิมในขณะที่ชิ้นอาหารข้างในมีจำนวนน้อยลง    

(ข) กล่องมีขนาดและหน้าตาเหมือนเดิม  แต่น้ำหนักสินค้าข้างในลดลง    

(ค)  เปลี่ยนแปลงหน้าตาให้ดูน่าสนใจขึ้น   ราคาเท่าเดิมแต่ของข้างในมีปริมาณน้อยลง     ฯลฯ     

       แค่นี้ยังไม่พอ   ยังมีกลยุทธ์อีกอย่างเพื่อหลีกหนีการต้องเพิ่มราคานั่นก็คือ Skimpflation (Skimp หมายถึงใช้ทรัพยากรน้อยลงกว่าที่ควรจะต้องใช้  + Inflation) ซึ่งได้แก่การลดคุณภาพของวัสดุ หรือใช้วัสดุอื่นที่ถูกกว่าทดแทนในการผลิตสินค้า

โดย   หน้าตากล่องบรรจุและราคาเท่าเดิมแต่สิ่งที่อยู่ภายในมีคุณภาพด้อยกว่าเดิม    ข้อความตัวเล็กบนกล่องเกี่ยวกับวัตถุดิบเปลี่ยนไปแต่จะมีใครอ่าน เพราะพอใจแล้วที่ราคายังคงเดิม

          ทั้ง Shrinkflation และ Skimpflation เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอาจรู้ทันหากใช้สมองคิดแต่มันเป็นสิ่งที่มนุษย์โดยทั่วไปไม่ชอบ

ประเด็นที่สร้างความปวดหัวก็คือจะรู้ได้อย่างไรอย่างมั่นใจว่าประชาชนทั่วไปโดยแท้จริงแล้วกำลังเผชิญกับการสูงขึ้นของราคาสินค้า ข้อมูลนี้สำคัญมากพราะจะช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ     

         หลักการในคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าต่างๆหรืออัตราเงินเฟ้อก็คือเปรียบเทียบราคาของสินค้าข้ามระยะเวลา ถ้าราคามันตรงไปตรงมาโดยไม่มี  Shrinkflation และ Skimpflation เรื่องก็คงไม่ยาก    เพราะเป็นการเปรียบเทียบราคาของสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน   กล่าวคือมีปริมาณหรือน้ำหนัก และคุณภาพเหมือนกัน

 เมื่อสองกลยุทธ์นี้เข้ามาอยู่ในชีวิตของการบริโภคของประชาชน    ความถูกแพงจริงของสินค้าก็ถูกบิดเบือนไป   ผู้เก็บข้อมูลจึงต้องใช้วิธีการหาราคาต่อหน่วยปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้าเป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ    

การเก็บจึงซับซ้อนมากขึ้น และเมื่อมีประเด็นคุณภาพสินค้าเข้ามาประกอบด้วยแล้วก็ทำให้การจัดเก็บต้องมีการใช้วิจารณญาณและวิจารณญาณนี้แหละที่ทำให้เกิดความเบี่ยงเบนในการบันทึกข้อมูลเพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความรู้สึกประกอบซึ่งแต่ละคนมีแตกต่างกัน 

          เมื่อตระหนักถึงธรรมชาติของข้อมูลในการนำไปประเมินความลำบากของประชาชนแล้วก็ทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้และการตีความเป็นอันมาก    

ตัวเลขอาจบอกว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำเพราะคำนวณจากข้อมูลราคาดิบบนกล่อง   ทั้งที่โดยแท้จริงประชาชนต้องจ่ายราคาต่อหน่วยปริมาณหรือน้ำหนักสูงขึ้นมากและคุณภาพสินค้าเลวลงด้วยก็เป็นได้

            ความจริงที่กล่าวมานี้ทำให้ความเชื่อถือข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ คลอนแคลนเพราะหลายประเทศอาจเก็บข้อมูลราคาดิบ ๆ โดยไม่คำนวณลงไปให้ลึกซึ้งก็เป็นได้   ดังนั้น การเปรียบเทียบอัตรา     เงินเฟ้อข้ามประเทศ จึงมีข้อจำกัด  และสำหรับตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศเราเองก็ตาม   หากมิได้พิจารณาลงไปละเอียดอย่างคำนึงถึง 2 กลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว ตัวเลขก็อาจไม่สะท้อนความจริงที่ประชาชนกำลังประสบอยู่

         อีกวิธีการหนึ่งที่ผู้ขายกระทำในยามข้าวของมีราคาสูงขึ้นก็คือ แบ่งสินค้าออกเป็นแพ็กเกจย่อยและขายในราคาต่ำที่พอซื้อหาได้     แต่ถ้าหากรวมน้ำหนักทั้งหมดของแพ็กเกจย่อยและเงินที่ต้องจ่ายรวมแล้วก็จะสูงกว่าการซื้อทั้งแพ็กเกจใหญ่     คนตัวเล็ก ๆ ในสังคมต้องเผชิญกับวิธีการนี้เสมอเพราะสอดคล้องกับกระเป๋าและธรรมชาติชอบของถูกของมนุษย์ 

          สถิติทุกตัวมีข้อจำกัดในการจัดเก็บและตีความ    อย่าเชื่อทั้งหมดหรือทิ้งไปทั้งหมด   การกลั่นกรองเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง   ยกตัวอย่างเรื่องอุณหภูมิอากาศที่ว่าสูงถึง 40 องศาเซลเซียสนั้น            วัดเมื่อใดและที่ไหน  และสถานที่วัดมันอยู่ใกล้กับที่เราอยู่ในตอนนี้หรือไม่?