ผ่าแผนลงทุน EA สร้างอีโคซิสเต็ม EV ดันนิวเอสเคิร์ฟขับเคลื่อนธุรกิจ

ผ่าแผนลงทุน EA สร้างอีโคซิสเต็ม EV ดันนิวเอสเคิร์ฟขับเคลื่อนธุรกิจ

“อีเอ” ลุยอีโคซิสเต็มอีวีเต็มสูบ หนุนการพัฒนานิวเอสเคิร์ฟประเทศ ขยายกำลังการผลิตโรงงานแบตเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เร่งหารือบีโอไอสรุปสิทธิประโยชน์การลงทุน จ่อตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตขั้นต่ำ 500 ล้าน พัฒนานิคมฯ "บลูเทค" ดึงต่างชาติลงทุน หนุนเศรษฐกิจฉะเชิงเทรา

สัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มีทิศทางเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรม EV ของประเทศที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจึงทำให้ EA มีแผนลงทุนเพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการลงทุนของ EA ต้องการสร้าง New S-Curve ประเทศ โดยต้องการทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถทำอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงได้ดีเหมือนต่างประเทศ เช่น การผลิตแบตเตอรี่ 

ทั้งนี้ ได้ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยได้เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์เต็มตัว

สำหรับ อมิตา เทคโนโลยี เป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะสนับสนุนไทยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค บนเนื้อที่ 80,000 ตารางเมตร ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ที่รองรับการผลิตได้ถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในอนาคต

ส่วนการผลิตได้เริ่มตั้งแต่ระดับเซลล์ โมดูลและแพ็ค โดยจะส่งแบตเตอรี่ไปเป็นวัตถุดิบให้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด เพื่อประกอบยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ รถบัส รถบรรทุก

“ปัจจุบัน EA มีธุรกิจบัสไฟฟ้า รถบรรทุกขนาดเล็ก เรือไฟฟ้า และมีโปรดักส์ใหม่ คือ หัวรถจักรไฟฟ้า ที่วิ่งระยะทาง 200 กิโลเมตร หากนำแบตเตอรี่ติดไปด้วยจะวิ่งได้ 400 กม. และสามารถถอดแบตเพื่อเปลี่ยนได้ทันที" 

ดังนั้น สิ่งที่ EA ทำ คือ ไม่ได้ผลิตอะไรที่เหมือนบริษัทอื่น แต่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและได้มีการจดสิทธิบัตร เพื่อผลักดันให้เกิด “เมคอินไทยแลนด์” ที่สู้ต่างชาติได้ ซึ่งโรงงานรถอีวีเราสามารถประกอบได้ครอบคลุมทั้งรถเล็กและรถใหญ่

ถก “บีโอไอ” เดินหน้าขยายกำลังผลิตแบต

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า EA เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ไทยลำดับต้น เพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจแม้มาร์จิ้นจะต่ำในช่วงเริ่มต้น แต่การจะทำให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ได้จะต้องสร้างอีโคซิสเต็มของ EV ที่ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ

1.โรงงานผลิตแบตเตอรี่ ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2567 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี รวมทั้งปี 2568 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จะเป็นการขยายในพื้นที่อาคารโรงงานปัจจุบัน และหลังจากนั้นจะประเมินดีมานด์ของตลาดอาเซียน ส่วนการขยายกำลังผลิตเป็น 5-10 กิกะวัตต์ชัวโมง จะต้องสร้างอาคารโรงงานใหม่

ทั้งนี้ EV อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์

“EA เป็นผู้ผลิตรายเดียวในไทยที่ผลิตตั้งแต่ระดับเซลล์ โดยการผลิตแบตเตอรี่มีต้นทุนจากเซลล์สัดส่วน 60-70% ในขณะที่การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตมีต้นทุนกิโลวัตต์ชั่วโมงที่ 1,000-2,000 ล้านบาท ขึ้นกับเทคโนโลยี”

ผ่าแผนลงทุน EA สร้างอีโคซิสเต็ม EV ดันนิวเอสเคิร์ฟขับเคลื่อนธุรกิจ

ลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า-สถานีชาร์จ

2.โรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด ซึ่งครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้าและหัวรถจักรไฟฟ้า และจะมีการพิจารณาการลดการปล่อยคาร์บอนด้วย โดยรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไทยมีจำนวน 1.4 ล้านคัน มีการเปลี่ยนใหม่ปีละ 100,000 คัน ถือเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่กำลังการผลิตของบริษัทอยู่ที่ปีละ 9,000 คัน และปีที่แล้วผลิต 3,000-4,000 คัน

3.สถานีชาร์จ EV ปัจจุบันมี 500-600 สถานี 4,000 หัวจ่าย จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 80% ปัจจุบันอยู่ที่ 40% แต่ปริมาณไฟที่ชาร์จคิดเป็นสัดส่วนถึง 80-90% ของประเทศ เพราะรองรับยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งรถและเรือ 

รวมทั้ง EA มีเทคโนโลยี Ultra-Fast Charge รองรับการชาร์จยานยนต์ EV ขนาดใหญ่ในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ เหมาะสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

4.การเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของบริษัท ไทยสมาย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้ใบอนุญาตเดินรถ 140 เส้นทาง ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่ทำให้ EA ครอบคลุมทั้งรถ เรือ ถือว่าครบอีโคซิสเต็ม

มั่นใจในช่วง 3 ปีนี้ ธุรกิจกักเก็บพลังงานบูม

นายฉัตรพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ถือเป็นตลาดใหญ่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์อย่างเดียว เพราะจะมีภาคพลังงาน ที่เทรนด์การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) จึงจำเป็นมองว่าในช่วง 3 ปีนี้ จะเห็นภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น เพราะปัจจุบันโรงงานหลายรายเริ่มติดตั้งเพื่อช่วยลดค่าไฟในช่วงพีค อีกทั้ง โรงงานหลายแห่งต้องการใช้ไฟสะอาด 100% เพราะไม่คำนึงเรื่องต้นทุนอย่างเดียวแต่จะคำนึงเรื่องกรีนด้วย

“ธุรกิจแบตเตอรี่เป็นตลาดใหญ่ทั้งด้านพลังงาน และขนส่ง ประเทศต้องการลดการปล่อยคาร์บอนปี ค.ศ.2030 ลง 40% หรือ 222 ล้านตันคาร์บอน จำเป็นต้องลด 70% จากภาคพลังงานและขนส่ง ตรงนี้จะตอบโจทย์ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลอย่างไรเรื่องนี้จะต้องทำต่อ ซึ่งเรามีรถบัส EV กว่า 2-3 พันคัน เรือ 30-40 ลำ ปีที่แล้วขายกระบะ EV รองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีได้เยอะขึ้น” นายฉัตรพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจได้รับความเดือนร้อนใน 3 เรื่องหลักคือ 

1. มาตการ CBAM ที่เน้นให้ลดการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะจากภาคพลังงานหรือภาคขนส่ง 

2. บริษัทใหญ่ต่างมีเป้าหมายช่วยซัพพอร์ทซัพพลายเชน 

3. พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะค่อยๆ บังคับใช้ ซึ่งภาคขนส่งเริ่มได้เลย เพราะมีสายส่งแข็งแรง ขยายสถานีชาร์จง่าย พลังงานเหลือเกิน

เตรียมลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบต

นายฉัตรพล กล่าวว่า EA มีแผนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ จากการที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคมีพื้นที่ราว 2,000 ไร่ ซึ่งแบ่งพื้นที่มาทำอุตสาหกรรมที่ไม่มีเครื่องจักรได้ ซึ่งปัจจุบันก็ใช้รถขนดินเป็น EV ทั้งหมด จึงจะขยายทั้งซัพพลายเชนการบริษัทที่ใช้เครื่องจักรไทย ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ 

ทั้งนี้เบื้องต้นอาจจะเริ่มจากการลงทุนโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ NMC ก่อน เพราะรถ EV ส่วนใหญ่เป็นแบตเตอรี่ NMC จึงขอเวลาศึกษาอีก 2 เดือน เพราะการทำโรงงานรีไซเคิลมีรายละเอียดมาก

รวมทั้ง EA กำลังศึกษารูปแบบการรีไซเคิลใน 3 แนวทาง คือ 1.รูปแบบ Physical ที่เป็นการแยกชิ้นส่วนแบตเตอรี่แล้วส่งต่อไปรีไซเคิลในต่างประเทศ แต่ติดปัญหาที่จีนห้ามนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ 2.รูปแบบ Chemical เป็นการแยกสารเคมีเพื่อส่งออกไปรีไซเคิลในต่างประเทศ ซึ่งจีนอนุญาตให้รีไซเคิลได้ และ 3.รูปแบบการแยกโลหะประกอบแบตเตอรี่ เช่น ลิเทียม นิกเกิลและโกบอล

“เบื้องต้นอาจจะเริ่มจากโรงงานขนาดเล็กระดับ 200 เมกะวัตต์ต่อปีก่อน ซึ่งต้องดูปริมาณว่ามีมากน้อยแค่ไหน อาจจะใช้เงินลงทุนระดับ 500 ล้านบาท กลางปีนี้น่าจะได้คำตอบทั้งปริมาณและพื้นที่ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องให้ความชัดเจนก่อนว่าจะจัดให้อยู่หมวดไหน ซึ่งจีนทำระดับ 2 กิกกะวัตต์ต่อปี เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท รัฐบาลสนับสนุนทุนครึ่งหนึ่ง พร้อมกับหาที่ดินให้ด้วย”

เร่งพัฒนานิคมฯ บลูเทค

นายฉัตรพล กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทยอยพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับการลงทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดย EA พยายามดึงซัพพลายเออร์จากต่างประเทศให้มาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยด้วย รวมถึงรองรับการลงทุนจากผู้ประกอบการรายอื่น 

ทั้งนี้ จะพัฒนาพื้นที่เสร็จครบทุกเฟสภายใน 2 ปี โดยรวมแล้วงบประมาณสำหรับการพัฒนาทุกเฟส 3,000 ล้านบาท

“เป้าหมายเราคืออยากทำให้จังหวัดฉะเชิงเทรามีความเจริญ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด ด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรามีศักยภาพ มีสถานที่ท่องที่ยว อาหารอร่อย ถ้าช่วยกันพัฒนาจะทำให้เมืองนี้เป็นเมืองใหม่ เป็นความฝันของเราระยะยาว เราจึงใช้คำว่าบลูเทค ซิตี้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่เพราะถ้าธุรกิจเราอยู่รอดก็จะแข็งขันกับตลาดต่างประเทศ” นายฉัตรพล กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการทำความเข้าใจชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบลูเทค โดยเฉพาะการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ที่ในอดีตมีความกังวลจากชุมชน ซึ่งได้ชี้แจงว่าการผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียมไออน จะเป็นโรงงานแบบปิดและมีการส่งขยะอุตสาหกรรมไปกำจัดตามมาตรฐานของรัฐ