ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับใหม่ เร่ง Ease of doing business รับลงทุน

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับใหม่  เร่ง Ease of doing business รับลงทุน

ครม.คลอด พรบ.อำนวยความสะดวก Ease of doing business ฉบับใหม่ แทนปี 58 ปลดล็อกการขออนุญาตหลายกิจการ ให้ใช้หลักการอนุมัติโดยอัตโนมัต หากเกินระยะเวลาที่หน่วยงที่กำหนดไว้ในการขออนุมัติ อนุญาต

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (2 เมษายน 2567) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนและความไม่สะดวกต่างๆ ของการอนุมัติ อนุญาต

โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บังคับใช้มากว่า 8 ปีแล้ว และถึงแม้จะมีผลสัมฤทธิ์ในเชิงปฏิบัติ แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัว ก.พ.ร. จึงได้ปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาในการบังคับกฎหมาย ขจัดผลไม่พึงประสงค์ ตลอดทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ

โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้ปรับปรุงจาก พ.ร.บ เดิม อาทิ

แก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ. เป็น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ... เพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ไปถึงการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชน รวมทั้งเพิ่มบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ”

กำหนดให้มีการทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาตทุก 5 ปี โดย ก.พ.ร. หรือ คกก. พัฒนากฎหมายอาจเสนอให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขกฎหมายก่อนกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ได้ รวมทั้งให้มีการทบทวนคู่มือสำหรับประชาชนทุก 2 ปี

 

กำหนดให้ผู้อนุญาตอาจจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast Track) โดยหน่วยงานของรัฐอาจเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการใช้บริการช่องทางดังกล่าวก็ได้

การกำหนดเพิ่มหลักการอนุญาตโดยปริยาย (Auto Approve)

กำหนดให้มีระบบอนุญาตหลัก (Super License) โดย ครม. อาจกำหนดเรื่องที่หากประชาชนได้รับใบอนุญาตที่เป็นใบอนุญาตหลักของเรื่องนั้นแล้ว ถือว่าได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย และกำหนดให้มีศูนย์รับคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ก.พ.ร. ได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว รวม 7 ฉบับ โดยออก พ.ร.ฎ. 4 ฉบับ และออกเป็นกฎกระทรวง 3 ฉบับ