ส่งออกไทยไป ‘จีน’ ติดลบรอบ 3 เดือน สรท.ห่วงภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นช้า

ส่งออกไทยไป ‘จีน’ ติดลบรอบ 3 เดือน  สรท.ห่วงภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นช้า

“พาณิชย์” เผย การส่งออกเดือน ก.พ.ขยาย3.6 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้น รวม 2 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัว 6.7% ยืนยันปีนี้ ขยายตัว 1-2 % จับตาตลาดจีนพลิกกลับมาติดลบในรอบ 3 เดือน ชี้ ภาคการผลิตยังไม่ฟื้น

การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.พ.2567 มีแนวขยายตัว โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกเดือน ก.พ.2567 มีมูลค่า 23,384 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 3.6% ขายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และกรณีหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.3% 

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,938 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.2 % ส่งผลให้ขาดดุล 554 ล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 46,034 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.7% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.6% ส่วนการนำเข้ามูลค่า 49,346 ล้านดอลลาร์ ขาดดุลการค้า 3,311 ล้านดอลลาร์

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องตอบรับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ การส่งออกภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ในขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีจากข้าวและยางพารา 

ส่วนวิกฤตการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบเล็กน้อย โดยการส่งออกไปตลาดยุโรปและซาอุดีอาระเบียยังคงขยายตัว

ส่งออกไทยไป ‘จีน’ ติดลบรอบ 3 เดือน  สรท.ห่วงภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นช้า

 

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 7.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 9.2% หดตัวในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม กาแฟ 

ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 2 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.2 % ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 5.6 % แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 13.2 % เป็นต้น 

ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 7.7 %

ตลาดจีนกลับมาหดตัวในรอบ3เดือน

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญเดือน ก.พ.2567 พบว่า ตลาดหลัก เพิ่มขึ้น 2.7% โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐ 15.5% สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 3.3% และ CLMV เพิ่มขึ้น 4.5% 

ตลาดจีน ลดลง 5.7% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ไม้แปรรูป และแผงวงจรไฟฟ้า โดยเมื่อรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 หดตัว 2.0% รวมถึงตลาดญี่ปุ่น ลดลง 5.8% และอาเซียน (5 ประเทศ) ลดลง 1.2% 

ส่งออกไทยไป ‘จีน’ ติดลบรอบ 3 เดือน  สรท.ห่วงภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นช้า

ในขณะที่การส่งออกตลาดรอง เพิ่ม 3.8% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 26.4% ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 7.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่มขึ้น 46.4% แต่เอเชียใต้ ลดลง 2.6% ตะวันออกกลาง ลดลง 9.9% แอฟริกา ลดลง 18.2% และสหราชอาณาจักร ลดลง 7.3% ตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้น 94.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 198.2%

ลุ้นส่งออกผลไม้หลังเริ่มออกสู่ตลาด

นายกีรติ กล่าวว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 คงต้องดูกันต่อเนื่องจากที่ฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกสูงถึง 28,004 ล้านดอลลาร์ ที่จะมีผลต่อการส่งออก แต่ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกจะยังโตต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามช่วงเดือน 1-2 เดือนข้างหน้าผลไม้ไทยเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งผลไม้และผักมีส่วน 6% ของการส่งออกทั้งหมด โดยในส่วนของผลไม้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียนจะออกช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ในเดือน พ.ค.นี้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องปรับแผนการส่งออกผลไม้ใหม่ โดยต้นเดือนจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง 

ส่วนการขนส่งไปยังประเทศจีน ทางนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนที่จะเดินไปยังประเทศจีนในช่วงเดือน เม.ย.นี้ เพื่อสำรวจด่านโม่ฮานและพบหารือกับผู้บริหารด่านศุลกากร เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รองรับฤดูกาลผลิตผลไม้ไทยปี 2567 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด

จับตาตลาดจีนหลังเศรษฐกิจผันผวน

ขณะที่แนวโน้มการส่งออกทั้งปี 2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า 

รวมถึงภัยแล้งที่กระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป โดยยังคาดว่าทั้งปีส่งออกไทยจะขยายตัว1-2%

ส่งออกไทยไป ‘จีน’ ติดลบรอบ 3 เดือน  สรท.ห่วงภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นช้า

ภาคการผลิตจีนยังไม่ฟื้นตัว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกไทยมีโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนได้ โดยมีปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญ คือ 

1.การขนส่งสินค้าทางทะเลสามารถบริหารจัดการได้ดี แม้ค่าระวางเรือจะยังสูงกว่าปีก่อน 1-2 เท่า แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยสินค้าที่ดาวเด่นในการขับเคลื่อนคือ สินค้าข้าว, ยางพารา รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์

2.ตัวเลขเดือน มี.ค.2567 คาดว่าจะส่งออกได้ 25,500-26,500 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ 28,000 ล้านดอลลาร์ 

3.เศรษฐกิจโลกเริมฟื้นดี ดูจากดัชนี PMI ในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังจีนประเทศเดียวเนื่องจากดัชนี PMI ของจีนยังไม่กระเตื้องขึ้น แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตของจีนยังไม่ฟื้นตัว

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ราว 1-2% มูลค่ารวม 71,500-72,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2 นั้น ภาคเอกชนยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อาจยังมีข้อกังวลต่อปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหากความขัดแย้งไม่ขยายวงหรือลุกลาม ก็เชื่อว่ามูลค่าการส่งออกไตรมาส 2 จะอยู่ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ที่ประมาณ ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ดี ประเมินว่าจะอยู่ที่ 71,600 ล้านดอลลาร์