'กฟผ.' ส่อแววเจ๊ง! หาก ‘เอกชน’ ซื้อ-ขายไฟสะอาดเสรี

'กฟผ.' ส่อแววเจ๊ง! หาก ‘เอกชน’ ซื้อ-ขายไฟสะอาดเสรี

"พลังงาน" เผย หากรัฐปล่อยเอกชนซื้อขายไฟสะอาดกันเองเป็นเรื่องใหญ่ ป่วนระบบสายส่ง 3 การไฟฟ้า อนาคตลูกค้าไหลออกหมด สุดท้าย "กฟผ." เจ๊งแน่นอน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ.พะเยา เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ว่าตามที่รัฐมนตรีการค้า สหรัฐอเมริการ (Ms. Gina M Raimondo) นำคณะนักธุรกิจที่ปรึกษาการส่งออกของประธานาธิบดี มาเยี่ยม หารือรัฐบาลเพื่อความร่วมมือโดยเฉพาะการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย

โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกันนั้นคือต้องการความชัดเจนของด้านพลังงานทดแทนถึงมาตรการ “direct PPA” ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เรารับปากว่าจะมีมาตรการชัดเจนก่อนสิ้นปี
ดังนั้น จึงขอสั่งการให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เร่งจัดทำมาตรการเพื่ออนุญาตและส่งเสริมให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟกันโดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานสะอาด/พลังงานทดแทน (direct PPA) และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยเร็ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากมาตรการ direct PPA ดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าจะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสียประโยชน์และได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากทั้ง 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะต้องเปิดระบบสายส่ง ซึ่งการเปิดเติร์ดปาร์ตี้แอสเสท ระหว่างเอกชนได้สามารถซื้อขายไฟสะอาดกันเองได้ลูกค้าก็จะไหลออกจากระบบกฟผ. ดังนั้น หากจะทำให้ไม่กระทบมากนัก ก็อาจจะทำเป็นพื้นที่ เช่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้ง ก็ควรกำหนดจำนวนเมกะวัตต์ด้วย เป็นต้น

"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเอกชนที่เคยซื้อไฟจากการไฟฟ้าก็จะไหลออกไปซื้อขายกันเอง ซึ่งตอนนี้ทั้งรัฐและเอกชนก็มีการทดลองซื้อขายรูปแบบ ERC Sandbox อยู่ ดังนั้น หากเอกชนซื้อขายกันได้หมด กฟผ. เจ๊งแน่นอน" แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบัน กฟผ. ในฐานะผู้จัดหาไฟฟ้าก็อยู่ระหว่างเร่งดำเนินติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ กว่า 2,000 เมกะวัตต์ และพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดในด้านอื่น ๆ เพื่อมาเสริมในจุดนี้ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ก็ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปแล้วกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เริ่มสงนามซื้อขายไฟสะอาดเข้าระบบไปบ้างแล้ว และอยู่ระหว่างเปิดขั้นตอนการเปิดรับซื้ออีก 3,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) เฟส 1 ตั้งแต่ปี 2562 และได้พัฒนามาเป็น ERC Sandbox เฟส 2 เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นหลัก เพื่อเตรียมวางโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ

และเป็นแนวทางการกำกับดูแลในการขับเคลื่อนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยคำนึงถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมการค้า และการลงทุนในระดับสากล ในยุคการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) และลดภาวะโลกร้อน ให้ได้ผลอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้งานในท้องตลาดแล้ว ก็จะต้องมีความแตกต่างจากรูปแบบที่เป็นอยู่ ทั้งหมดจะต้องมุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการทางพลังงาน รองรับธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ สอดคล้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางพัฒนาการกำกับดูแลนวัตกรรมพลังงานสะอาด และสอดรับกับหลักเกณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม