ย้อนมหากาพย์ 'บีทีเอส' ทวงหนี้ 'ชัชชาติ' ปิดจ๊อบจ่าย มี.ค.นี้

ย้อนมหากาพย์ 'บีทีเอส' ทวงหนี้  'ชัชชาติ' ปิดจ๊อบจ่าย มี.ค.นี้

ย้อนมหากาพย์หนี้ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" จากจุดเริ่มต้นรัฐบาล คสช. สู่มือ "ชัชชาติ" ปิดจ๊อบออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จัดใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สางหนี้จ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2.3 หมื่นล้านบาท ภายใน มี.ค.นี้

KEY

POINTS

  • ย้อนมหากาพย์หนี้ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" จากจุดเริ่มต้นรัฐบาล คสช.ในปี 2559
  • "บีทีเอส" ทวงหนี้ต่อเนื่องตลอด 4 ปี สู่กระบวนการร้องเรียนศาลปกครอง 
  • "ชัชชาติ" ปิดจ๊อบออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จัดใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 
  • คาดทยอยสางหนี้ก้อนแรก จ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2.3 หมื่นล้านบาท ภายใน มี.ค.นี้ 

 

ย้อนมหากาพย์หนี้ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" จากจุดเริ่มต้นรัฐบาล คสช. สู่มือ "ชัชชาติ" ปิดจ๊อบออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จัดใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สางหนี้จ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2.3 หมื่นล้านบาท ภายใน มี.ค.นี้

12 มี.ค.2567 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่ลงนามโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

นับเป็นก้าวสำคัญของการเริ่มต้นปิดฉากมหากาพย์หนี้สิน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีมูลค่าหนี้สินสูงระดับแสนล้านบาท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในปี 2559 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนโยบายรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกช่วงให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการเดินทางอย่างไร้รอยต่อของประชาชน พร้อมมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ก่อนจะมีลงนามสัญญาจ้าง BTSC เข้ามาดำเนินการ

โดยหนี้สินกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นจากการจ้างงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (ELECTRICAL AND MECHANICAL : E&M) ประกอบด้วย งานระบบจัดเก็บตั๋ว งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบจ่ายไฟ งานระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ งานระบบความปลอดภัย รวมถึงระบบอื่นๆ 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บีทีเอสมีความพยายามทวงถามการชำระค่าติดตั้งงาน E&M มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

ครั้งที่ 1 วันที่ 2 เม.ย. 2564 บีทีเอส เข้ายื่นหนังสือทวงถามการชำระหนี้

โดยเข้ายื่นหนังสือให้กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามเรื่องการขอให้ชำระหนี้ E&M (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่ถึงกำหนดชำระในเดือน มี.ค.2564 จำนวน 20,768 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 30,370 ล้านบาท

รวมทั้งยังทวงถามถึงหนี้การเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 จำนวน 9,602 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 วันที่ 8 เม.ย. 2564 บีทีเอส ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีใจความว่า

บริษัทได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ชี้แจงข้อเท็จจริงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ให้ประชาชนได้รับทราบว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯ เข้าใจถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาล ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป

โดยภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นหลัก ประกอบด้วย ค่าระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ค่าจ้างเดินรถ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรที่กรุงเทพมหานคร โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถ

ทั้งนี้บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชน จะเข้าใจถึงปัญหาที่เราต้องเผชิญ และได้พยายามอย่างที่สุด ที่จะร่วมรับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ขอขอบคุณผู้โดยสารทุกท่านที่ให้การสนับสนุน และจะพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะดูแลผู้โดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด

ครั้งที่ 3 วันที่ 21 พ.ย. 2566 บีทีเอส เผยแพร่คลิปวิดีโอบนรถไฟฟ้า และสถานีรถไฟฟ้าของบีทีเอสทุกแห่งเป็นระยะเวลา 15 วัน โดยระบุข้อความว่า

“คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน… ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน #ติดหนี้ต้องจ่าย”

นอกจากนี้เนื้อหาในคลิปยังมี นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุด้วยว่า “จ่ายเงินที่ควรจ่าย 3 ปีกว่า จำนวนเงิน 40,000 กว่าล้าน เพราะเอกชนผู้ลงทุน จ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ผู้ที่มีอำนาจ บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือ การเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน

ท่านใดที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่า ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่ายผม มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย ผมเชื่อว่าประชาชน ภาษีเราเสียหาย อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ จะเอาอย่างไร เพราะสิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำอยู่อย่างเดียวก็คือว่า เราไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมรับปากกับประชาชน ว่าผมจะไม่ยอมหยุดรถ เพราะหยุดรถนี่ ความเสียหายเกิดกับประชาชน ไม่ได้เกิดกับผมอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองคนไหน ผมเชื่อว่าผู้โดยสารของผม คงเข้าใจผม"

ครั้งที่ 4 วันที่ 9 ธ.ค. 2566 บีทีเอส เผยแพร่คลิปวีดีโอ “ภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” โดยมีเนื้อหาว่า

เจ้าสัวคีรี นำทีมผู้บริหาร และพนักงาน กลุ่มบริษัทบีทีเอส สวดอธิษฐานขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรดเมตตาให้ปัญหาภาระหนี้สินได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่ากับการที่บีทีเอสต้องแบกรับภาระหนี้ เราอดทน รอ.รอ.รอ... เราเดินตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้องเสมอมา ทั้งทวงถามหนี้ ชี้แจงข้อเท็จจริง ร้องเรียนต่อศาลปกครอง เรารออย่างมีความหวัง แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ได้แต่โยนไปโยนมา จนวันนี้...เราต้องหันหน้าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ #ติดหนี้ต้องจ่าย

วันที่ 12 มี.ค. 2567 มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2.3 หมื่นล้าน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับ

โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวนราว 2.3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เบื้องต้น กทม.คาดว่าจะสามารถจ่ายหนี้ส่วนดังกล่าวได้ภายในเดือน มี.ค.นี้