“กรุงเทพธุรกิจ” คว้ารางวัลชนะเลิศข่าวเชิงวิเคราะห์ รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

“กรุงเทพธุรกิจ” คว้ารางวัลชนะเลิศข่าวเชิงวิเคราะห์ รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

“กรุงเทพธุรกิจ” คว้ารางวัลชนะเลิศ บทความข่าวเชิงวิเคราะห์ "รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์" จากผลงานเรื่อง “หนี้สาธารณะ” พุ่ง สวนทาง “พื้นที่การคลัง” หดแคบ เมื่อนโยบายประชานิยมเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทย เตือนสังคมตระหนักถึงหนี้สาธารณะสูงเพิ่มความเสี่ยงให้การคลังไทย

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ (ลับคมความคิด) ประจำปี 2566 "รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์" โดยผลการประกวดบทความประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากผลงานเรื่อง “หนี้สาธารณะ” พุ่ง สวนทาง “พื้นที่การคลัง” หดแคบ เมื่อนโยบายประชานิยมเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทย

เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมาในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้มีการมอบรางวัล บทความข่าวเชิงวิเคราะห์ รางวัล ป๋วยอึ๊งภากรณ์ โดยการประกวดบทความประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ ประจำปี 2566 มีผู้ได้รับรางวัล ได้แก่

รางวัลที่ 1 ได้แก่ เรื่อง หนี้สาธารณะ พุ่งสวนทาง พื้นที่การคลัง หดแคบ เมื่อนโยบายประชานิยมเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทย โดย นายนครินทร์ ศรีเลิศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

“กรุงเทพธุรกิจ” คว้ารางวัลชนะเลิศข่าวเชิงวิเคราะห์ รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

รางวัลที่ 2 ได้แก่ เรื่อง เดิมพันชาติด้วย ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ‘โอกาสใหม่’ บน ‘กับดัก’ เศรษฐกิจไทย โดย นายพรเทพ อินพรหม หนังสือพิมพ์ข่าวสด

รางวัลที่ 3 ได้แก่ เรื่อง เจาะลึก “Rainbow Economy” เครื่องยนต์สีรุ้งหนุนเศรษฐกิจไทยบานฉ่ำ โดย นายประวิทย์ พัดลม นิตยสาร Banking & Insurance

รางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง “ระบบตั๋วร่วม” นโยบายขายฝันสู่ความเหลื่อมล้า การใช้บริการรถไฟฟ้าสารพัดสี โดย นางสาวอนัญญา จั่นมาลี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

รางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง หนี้ครัวเรือนไทยวาระแห่งชาติจับตาผลงานรัฐบาลเศรษฐา แก้ไขตรงจุดหรือไม่ โดย นางสาวณัฐชนัน ฐิติพันธ์ รังสฤต หนังสือพิมพ์มติชน

“กรุงเทพธุรกิจ” คว้ารางวัลชนะเลิศข่าวเชิงวิเคราะห์ รางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

สำหรับรางวัลบทความดังกล่าว สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการใช้ชื่อ "รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์" ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะที่เป็นปราชญ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีการจัดการประกวดบทความต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อพัฒนาทักษะในการนำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ และคนในสังคมส่วนใหญ่ได้หันมาให้ความสนใจกับ ข่าวเศรษฐกิจ มากขึ้น

สำหรับการส่งผลงานประกวดในปีนี้ สมาคมฯ เปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน – 28 ธันวาคม 2566

โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ร่วมตัดสิน ประกอบด้วย

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

คุณศรัณยกร อังคณากร ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค

คุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับบทความเรื่อง หนี้สาธารณะ พุ่งสวนทาง พื้นที่การคลัง หดแคบ เมื่อนโยบายประชานิยมเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทย เป็นการเขียนขึ้นเพื่อให้ข้อมูล กับสังคมไทยให้ตระหนักถึงระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่สูงขึ้นต่อเนื่องจน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 62% โดยระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จากข้อมูลของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พบว่าในช่วงปีพ.ศ.  2555 - 2565 หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นจาก 4.9 ล้านล้านบาท เป็น 10.3 ล้านล้านบาท

โดยในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่เกิดวิกฤติโควิด-19ขึ้นนั้น หนี้สาธารณะของไทยในตอนนั้นมีเพียง 6.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.06% ต่อจีดีพีเท่านั้น แต่เมื่อเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาเกิน 10 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าเมื่อเกิดภาวะวิกฤติขนาดใหญ่ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกระทบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังรัฐกำหนดไว้

ทั้งนี้ในระยะ 3 – 5 ปีข้างหน้าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังไม่ลดต่ำลงจากระดับปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 3 – 5% ก็ตาม โดยตามแผนการคลังระยะปานกลางพ.ศ. 2568 – 2571ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะอยู่ที่ 62.71% - 64.23% ต่อจีดีพี ซึ่งหากเกิดวิกฤติขึ้นก็อาจต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไปอีก ดังนั้นพื้นที่การคลังที่หดแคบลงของไทยอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับ “ความเสี่ยง” ที่เกิดขึ้น และไม่เพียงพอรองรับ “โครงการประชานิยม” ที่ใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อแจกเงินแบบหว่านแหโดยไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว