เปิดใจ"เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต"หลังทิ้งเก้าอี้ผอ.อคส.

เปิดใจ"เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต"หลังทิ้งเก้าอี้ผอ.อคส.

อดีต ผอ.อคส. ชี้ องค์การคลังสินค้า ละทิ้งพันธกิจ พึ่งพาโครงการรัฐ องค์กรขาดการพัฒนา ขณะที่โครงการประชานิยมแม้จะช่วยประชาชน แต่คนโกงใช้ช่องทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ โอดคดีทุจริตฟ้องร้องใช้เวลายาวนานเป็น 10 ปี ยังไม่นับรวมความเสียหายด้านงบประมาณของประเทศ

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต  อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดใจ"กรุงเทพธุรกิจ"หลังยื่นหนังสือลาออกตำแหน่งมีผล 1 มี.ค. 2567 ว่า พันธกิจของ อคส. ตามพระราชกฤษฎีกาฯ มาตรา 6 ซึ่งมีด้วยกัน 8 ข้อนั้น อคส. แทบจะไม่ได้ทำตามเกือบทุกข้อ มาร่วมหลายสิบปี หวังพึ่งพาแต่โครงการรัฐมาโดยตลอด และภายใต้การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี อคส. จึงสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าที่ผูกขาดให้เอกชน แต่กลับไม่ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบดังกล่าวเลย นอกจากนี้ การรับบรรจุพนักงานก็ไร้ทิศทางจนมีมากเกินความจำเป็นและไม่สร้างบุคลากรรองรับโครงสร้างเลยจนขาดแคลนผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ ผู้อำนวยการสำนัก(ระดับ 9) จนถึงรองผู้อำนวยการ (ระดับ 11) รวมถึงพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบัน

หลังจากที่ได้มารับตำแหน่ง ผอ.อคส. ได้สร้างยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” เพื่อรองรับพันธกิจดังกล่าวแล้ว และได้เดินหน้าทำแผนธุรกิจเพื่อครอบคลุมสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่น คลังข้าวลพบุรี (ชาวนาปลูกข้าวขายแป้ง) ซึ่งสามารถต่อยอดจนถึงการผลิต excipients สารประกอบในการผลิตยาซึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้า และพื้นที่อื่นๆครบทุกภูมิภาค ล่าสุดพบที่ดินพร้อมไซโลและท่าเทียบเรือในจังหวัดอ่างทองมากกว่า 100 ไร่ จากคำสั่งศาลบังคับคดียึดทรัพย์ในโครงการจำนำข้าว

รวมถึง ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศ Cross border warehouse สร้างตลาดรองรับและสนับสนุนการส่งออกให้ภาคเอกชน ทั้งในประเทศจีน (คุณหมิง อู่ฮั่น และหนานซา) เมียนมาร์ (ทวาย) และล่าสุดที่ประเทศทาจิกิสถาน โดยทั้งหมดจะอยู่ในเขตปลอดอากร (Free Trade Zone)

เปิดใจ\"เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต\"หลังทิ้งเก้าอี้ผอ.อคส.

นายเกรียงศักดิ์  กล่าวว่า  การบุกเบิกตลาดใหม่ด้วยนวัตกรรม เป็นเรื่องที่จะสร้างความได้เปรียบให้ อคส. เนื่องจากยังไม่มีเอกชนเป็นคู่แข่ง ซึ่ง “กระท่อม” เป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากมีประเทศผู้ส่งออกรายเดียวคือ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศผู้นำเข้ารายเดียว คือ สหรัฐอเมริกา แต่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มการเติบโตถึง 3 หลักในบางรัฐ ทั้งนี้ กระท่อมเป็นเสมือนยาขยัน สดชื่นทนแดด สามารถสกัดสารเสพติดออกได้ทั้งหมด โดยมีสารสกัดที่มีประโยชน์ถึง 6 ชนิด โดยเบื้องต้นสกัด “Mitragynine” มาใช้ในตลาดเครื่องดื่มให้ความสดชื่น และสามารถต่อยอดเป็นยาลดเบาหวานและยาลดความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

โดย อคส. ร่วมมือกับ สวทช. ในการทำวิจัยสารสกัดบริสุทธ์ 65% ซึ่งมีความต้องซื้อแล้ว 120 ตันต่อปี ราคา 50,000 บาทต่อกิโลกรัม ในเบื้องต้น ซึ่งแตกต่างจากอินโดนีเซียที่ส่งออกในรูปผงกระท่อม ราคา 300 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จ เกษตรกรผู้ปลูกจะมีรายได้ต่อ 1 ไร่ เท่ากับ GDP ประเทศเลยทีเดียว (ประมาณ 125,000 บาทต่อปี)

อย่างไรก็ตาม หากนำกระท่อมไปผสมเป็น 4คูณ100 ก็จะกลายเป็นภาระปัญหาทางสังคมดังที่เราเข้าใจกันอยู่ ประกอบกับการปลูกกระท่อมที่ไร้ทิศทางและโฆษณาชวนเชื่อจะสร้างผลกระทบให้กระท่อมเป็นเหมือนโกโก้ที่มีปัญหามาก่อนแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยไม่มีตลาดปลายน้ำรองรับและเน้นขายเป็นวัตถุดิบปริมาณมากเท่านั้น

“เมื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจนแล้ว การขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ย่อมมีความหนักใจอยู่บ้างเนื่องจากการรับบรรจุและพัฒนาบุคลากรไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว เมื่อรวมถึงคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ให้เดินทางไปต่างจังหวัด และการพิจารณาวาระการประชุมของคณะกรรมการใช้เวลาไปกว่าครึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างผู้อำนวยการร่วมแล้วกว่า 15 เดือน”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องร้องเรียนทั้งจากกลุ่มบุคคลในองค์กรและนอกองค์กรผ่านหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาในการชี้แจงเป็นจำนวนมากเช่นกัน ยังไม่รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายมากกว่า 1,660 คดี และการบังคับคดีอีกร่วม 200 คดี อีกทั้งการพบเหตุพิรุธสงสัยเป็นการกระทำความผิดต่อหน้าที่และได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.รวมแล้วกว่า 10 เรื่อง ไม่นับเรื่องการพบทุจริตจัดซื้อถุงมือยางเทียม ซึ่งต้องจัดการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ สะท้อนให้เห็นว่า อคส. เป็นหน่วยงานที่มีความยุ่งเหยิงมากเพียงใด

นายเกรียงศักดิ์  กล่าวว่า  สำหรับโครงการรัฐแบบประชานิยมที่เข้าช่วยเหลือความทุกข์ยากของประชาชน ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะใช้อำนาจเพื่อบรรเทาความทุกข์เหล่านั้นโดยชอบธรรม หากแต่คนโกงที่เตรียมพร้อมย่อมทำงานฉับไวกว่าการบังคับใช้กฏหมาย

ที่ผ่านมาต้องใช้เวลาสู้คดีกันประมาณ 10 ปี บังคับคดีอีก 10 ปี แล้วฟ้องล้มละลายอีก 10 ปี รวมแล้วใช้เวลาร่วม 30 ปีโดยเฉลี่ยในการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่รวมการขอฟื้นฟูกิจการ ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่รวมในความเสียหายที่เกิดขึ้น และยังไม่นับรวมความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของรัฐและประชาชนจากการบรรทุกขนส่งข้าวมากกว่า 1 ล้านเที่ยวต่อปี

การแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยใช้แผนระยะสั้นแต่สร้างปัญหาในระยะยาวมาโดยตลอดและน่าจะเป็นแบบนี้ต่อไป แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องร่วมกันรับผิดชอบในทุกภาคส่วน มูลเหตุสำคัญของปัญหาเกิดจาก “ตลาด” รองรับไม่มีความเสถียรและอ่อนไหวตามราคาที่แข่งขัน ต้องถามตัวเราเองว่าประเทศไทยยังคงแข่งขันด้านราคากับสินค้าชนิดเดียวกันลักษณะเดียวกันประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว ทั้งที่ค่าแรงสูงกว่า ต้นทุนการปลูกต่อไร่สูงกว่า หากเป็นดังที่กล่าวมา นโยบายประชานิยมจะเป็นนโยบายที่คงอยู่ตลอดไป

 “ขอส่งแรงใจและเป็นกำลังใจให้ข้าราชการทุกท่าน สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆจนประสบความสำเร็จสมปรารถนา “นายเกรียงศักดิ์ กล่าว