จับเทรนด์ Set-jetting สร้าง Soft power ท่องเที่ยว

จับเทรนด์ Set-jetting สร้าง Soft power ท่องเที่ยว

Soft power ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องและเป็นอีกหนึ่งนโยบายชูโรงที่รัฐบาลยุคนี้นำมาใช้ยกระดับการท่องเที่ยวผ่านภาพยนตร์/ซีรีส์/รายการทีวีเป็นสื่อกลางสำคัญส่งไปยังผู้คนทั่วโลก อีกทั้ง ยังสอดรับกับเทรนด์ Set-jetting

หรือการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์/ซีรีส์/รายการทีวีที่ยังเป็นกระแสมาแรงต่อเนื่อง 

Set-jetting แม้จะไม่ใช่เทรนด์ใหม่แต่อิทธิพลของภาพยนตร์และซีรีส์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น จากผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวกว่า 20,000 คนจาก 14 ประเทศของ Expedia ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2023 พบว่า นักท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งวางแผนท่องเที่ยวตามสถานที่ในภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมถึงรายการทีวีที่ชื่นชอบ และที่ผ่านมาหลายประเทศก็ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ Set-jetting นี้อย่างเห็นได้ชัด เช่น โรงแรมบนเกาะซิซิลีของอิตาลีถูกจองเต็มตลอดช่วง Summer จากกระแสซีรีส์ The white lotus ซีซั่น 2 บน HBO เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความสนใจมากขึ้นจากกระแสซีรีส์ King the Land ของเกาหลีใต้ใน Netflix และภาพยนตร์เรื่อง The creato

โดยในปีนี้คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับความสนใจต่อเนื่องจากภาพยนตร์/ซีรีส์/รายการทีวีที่เข้ามาถ่ายทำในไทยและเตรียมออกฉายอีกหลายเรื่อง สะท้อนจากตัวเลขของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ พบว่า ในปี 2023 ภาพยนตร์/ซีรีส์/รายการทีวีต่างชาติเข้ามาถ่ายทำในไทยมากถึง 466 เรื่อง เพิ่มขึ้นราว 34%YOY  สร้างรายได้เข้าประเทศในภาพรวมกว่า 6,600 ล้านบาท แม้จำนวนเรื่องจะยังไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงปี 2019 แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 35% แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ต่างชาติหลายเรื่องที่ถ่ายทำในไทยเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูงและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีมาก ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถสร้างการรับรู้ส่งไปยังผู้คนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น

แต่ด้วยกระแสภาพยนตร์/ซีรีส์/รายการทีวีในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) กันมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่เข้มข้น ดังนั้น นอกจากจุดแข็งด้านโลเคชั่นถ่ายทำที่มีความหลากหลายแล้ว ศักยภาพของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ซึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ใน EEC โดยเฉพาะด้านแอนิเมชันและภาพยนตร์ที่ภาครัฐมีแผนผลักดันให้มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดย 2 ด้านสำคัญที่จะแสดงให้ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพของไทย ก็คือ 1. กำลังคนและบุคลากรดิจิทัลระดับสูงที่สามารถรองรับงานในสเกลระดับโลกได้ และยังสอดรับกับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมของมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติในส่วนของการให้ Incentive ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash rebate) สำหรับภาพยนตร์ที่มีค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำในไทยมากกว่า 50 ล้านบาท หากว่าจ้างทีมงานหลักชาวไทยซึ่งรวมถึงงานในด้าน Visual graphic, Computer graphic และ Animation ด้วย และ 2. เครือข่ายที่เชื่อมโยงกับ Supply chain ของโลก ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้นผ่านการออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ทั้งสิทธิพิเศษทางภาษีและมาตรการ Smart visa เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและกลุ่มสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ EECd หรือ Digital Park Thailand ให้เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลขั้นสูงและนวัตกรรมของภูมิภาค

จะเห็นได้ว่า ในการผลักดัน Soft power ท่องเที่ยวจากเทรนด์ Set-jetting นั้น การขับเคลื่อนแบบคู่ขนานของนโยบายภาครัฐทั้งการออกมาตรการส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของไทยในการรองรับการเข้ามาของภาพยนตร์ต่างชาติและยังสามารถดึงความสนใจให้ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

บทความโดย 

 

ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม

นักวิเคราะห์อาวุโส
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
[email protected] | EIC Online: www.scbeic.com