'เอกชน' ชงรัฐบาล เร่ง 'แลนด์บริดจ์' เชื่อมขนส่ง 'อีอีซี' เพิ่มศักภาพลงทุนไทย

'เอกชน' ชงรัฐบาล เร่ง 'แลนด์บริดจ์'  เชื่อมขนส่ง 'อีอีซี' เพิ่มศักภาพลงทุนไทย

“รัฐบาล” เร่งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง-มาบตาพุดคู่กันเพื่อผลักดันแลนด์บริดจ์ เพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำไทย “กอบศักดิ์” หนุนใช้ประโยชน์รถไฟทางคู่เชื่อมอีอีซี-เอสอีซี “ดับบลิวเอชเอ” หนุนรัฐบาลมองภาพใหญ่ พัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

Key points :

  • การผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมีหลายโครงการ
  • นอกจากแลนด์บริดจ์ที่เป็นโครงการใหม่ยังมีโครงการในอีอีซีที่ยังไม่แล้วเสร็จ 
  • เอกชนให้ข้อเสนอแนะว่าหากสามารถเชื่อมโยงทั้งสองพื้นที่ได้จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากโดยสามารถใช้รถไฟทางคู่
  • การลงทุนแลนด์บริดจ์ต้องไม่มุ่งใช้ประโยชน์แค่ขนส่ง แต่ต้องมองถึงการเปิดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม้ และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 

รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการเร่งดึงการลงทุนทางตรงโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยโรดโชว์และหารือกับนักลงทุนต่างประเทศ พร้อมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการทั้งสนามบินภูมิภาค เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์)

โครงการแลนด์บริดจ์ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ใหม่ที่หลายฝ่ายมีข้อเสนอว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ควรจะเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งทั้งสองส่วนมีแนวทางพัฒนาใกล้เคียงกัน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การออกกฎหมายเพื่อบริหารจัดการการพัฒนาพื้นที่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลพยายามสร้างบรรยากาศที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน หลังจากที่รัฐบาลโรดโชว์ดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยจำนวนมาก โดยได้ได้หน้าแลนด์บริดจ์เพื่อทำให้การขนส่งและโลจิสติกส์สินค้าของประเทศไทยมีความคล่องตัว และสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีต่อจากสนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งที่ต้องเร่งรัดให้เดินหน้าไปได้ คือ โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC เพื่อให้มีท่าเรือน้ำลึกรองรับการขนส่งสินค้าออกทางทะเล โดยหลายประเทศยกระดับเศรษฐกิจได้จากการมีโครงการในลักษณะนี้

แนะใช้ทางคู่เชื่อมอีอีซี-แลนด์บริดจ์

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์สามารถเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือแหลมฉบับของ EEC โดยรัฐบาลได้อนุมัติแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมไว้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากทางตอนใต้ของจีนมายังท่าเรือทั้งท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือระนอง เพื่อส่งสินค้าไปฝั่งตะวันตก 

ทั้งนี้จะเป็นเกตเวย์การขนส่งที่สำคัญ และลดระยะเวลาจากการขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองไปอินเดียใช้เวลา 4-7 วันเท่านั้น จากเดิมต้องใช้เวลาขนส่งที่ไปอ้อมช่องแคบมะละกาไปยังประเทศจีนใช้เวลากว่า 20 วัน แต่เส้นทางต่อไปจะส่งสินค้ามายังท่าเรือระนองแล้วขนส่งทางรถไฟต่อไปยังจีนได้ หรือในทางกลับกันก็ส่งสินค้าจากจีนไปอินเดียโดยผ่านท่าเรือระนองได้เช่นกันจะช่วยย่นระยะเวลามาก

“ท่าเรือระนองนั้นเป็นท่าเรือที่ใช่ ที่จะพัฒนาให้เป็นท่าเรือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นเกตเวย์ในการเปิดประตูการค้าไปยังอีกหลายประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง และมีประชากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บังกลาเทศ อินเดีย" นายกอบศักดิ์ กล่าว

รวมทั้งเมื่อดูจากแผนที่จะเห็นว่าท่าเรือระนองอยู่ระดับเดียวกับการเดินเรือจากศรีลังกาและแอฟริกา ขณะที่ท่าเรือปากบาราอยู่ต่ำเกินไป และท่าเรือทวายอยู่สูงเกินไปต้องเสียเวลาเดินเรือขึ้นไปด้านบน โครงการแลนด์บริดจ์จึงต้องเน้นการพัฒนาท่าเรือระนองก่อนแล้วจึงขยายไปยังส่วนอื่นที่ความคุ้มค่าในการคืนทุนใช้เวลานานกว่า

WHA ชี้แลนด์บริดจ์เปิดพื้นที่ลงทุนใหม่

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทยต้องมองไปข้างหน้าและมองการเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับที่ตั้งของไทยที่ได้เปรียบในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) 

ทั้งนี้ในขณะที่มีการพัฒนา EEC รัฐบาลปัจจุบันได้เดินหน้าโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อเชื่อมมหาสมุทรสองฝั่งซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน โดยการพัฒนาแลนด์บริดจ์วางอยู่ในพื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) 

สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่มีความคล้าย EEC ที่มีท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง คือ ท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนแลนด์บริดจ์มีท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง เพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าเส้นทางการขนส่งทางเรือในภูมิภาคนี้จะหนาแน่น และช่องแคบมะละกาจะแออัดมากขึ้น ทำให้การขนส่งล่าช้า ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเสริมการขนส่งทางน้ำในภูมิภาคนี้

แนะเฟสแรกเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร

นางสาวจรีพร กล่าวว่า SEC และแลนด์บริดจ์ ต้องไม่มองแค่โครงการด้านโลจิสติกส์ แต่เป็นโครงการเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ให้ไทย เหมือนที่เคยพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด แล้วต่อมาเป็น EEC ซึ่งใช้แนวคิดสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมแล้วเปิดพื้นที่การลงทุนให้เกิดการลงทุนของธุรกิจ และการจ้างงาน 

ทั้งนี้ การเปิดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งการสร้างท่าเรือ โดยทำควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาได้หลายระยะ โดยระยะแรกคือการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งมีวัตถุดิบจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนที่ระยะต่อไปจะมีอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มเติมซึ่งทำเป็นแผนแต่ละระยะโดยทำงานร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้

โดยโครงการแลนด์บริดจ์นั้นในส่วนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกนั้นเมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นท่าเรือสำคัญของภูภาค เหมือนกับหลายท่าเรือในภูมิภาคนี้ เหมือนกับฮานอยในเวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาได้จากการพัฒนาท่าเรือขึ้นมาแล้วบ้านเมืองเจริญขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลจีน และนักลงทุนจีนก็ให้ความสนใจเพราะแลนด์บริดจ์อยู่บนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนด้วย ซึ่งหากโครงการเกิดขึ้นจริงภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุน และมีโอกาสที่จะขยายการลงทุนลงไปในพื้นที่ตามที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอย่างชัดเจน

“โครงการแลนด์บริดจ์จึงเป็นการมองภาพใหญ่ของสิ่งที่จะเกิดขึ้น และใช้ประโยชน์จากศักยภาพของที่ตั้งในไทย ทั้งนี้ต้องสร้างการเชื่อมโยงระหว่าง EEC และ SEC เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพทั้งสองพื้นที่ ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจไทยเพราะสร้าง Connectivity แล้วเดินหน้าให้เกิดขึ้นจริงซึ่งมีความเป็นไปได้ ด้วยเวลาที่เรามีอยู่จำกัด และเงินที่เรามีอยู่จำกัด ต้องวางแผนให้ดีและผลักดันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าทุกคนมีเป้าหมายว่าเดินหน้าเพื่อชาตินั้นสามารถที่จะทำได้อย่างแน่นอน”นางสาวจรีพร กล่าว

พรหมินทร์ชี้แลนด์บริดจ์หนุนบทบาทไทย

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าแนวคิดของโครงการแลนด์บริดจ์รัฐบาลไม่ได้เพียงแค่คิดในเรื่องของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่โครงการนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่ตั้งของประเทศไทยที่เป็นความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Advantage) ที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่างสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก และมีทางออกทางทะเลทั้งสองด้าน มากำหนดโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากการคมนาคมขนส่งแล้วจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการที่ช่วยเสริมบทบาทความเป็นกลางของประเทศไทย ตามที่เราใช้นโยบายเป็นมิตรไม่ขัดแย้งกับประเทศใด หรือไม่เข้าข้างฝ่ายใด เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ตามนโยบาย สนับสนุนสันติสุข และความมั่งคั่งร่วมกัน (peace and common prosperity) แลนด์บริดจ์จึงเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคม และการขนส่งใหม่ทางทะเล ที่เชื่อมโยงกับทางบก และเป็นเส้นทางกลางของภูมิภาคที่นานาชาติเข้ามาร่วมลงทุนและใช้งานได้ ซึ่งแนวคิดของโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทในการเป็นกลางของประเทศไทยในบริบทที่หลายพื้นที่ของโลกเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สูง และความแออัดในพื้นที่ช่องแคบมะละกานั้นมีความแออัดและมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้น

ย้ำนักลงทุนหลายชาติสนใจโครงการ

นอกจากนี้ การตอบรับจากรัฐบาลและนักลงทุนต่อโครงการแลนด์บริดจ์ถือว่าสูงมาก เห็นได้จากการที่ไปโรดโชว์ทุกครั้งมีนักลงทุนเข้ามาฟังข้อมูลด้วยความสนใจจำนวนมาก นอกจากนั้นรัฐบาลจีนสนใจและสอบถามข้อมูลต่อเนื่อง โดยล่าสุดในการเดินทางมาเยือนไทยของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็ได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า โครงการแลนด์บริดจ์ถือว่าเป็น “โครงการกลางของภูมิภาค” ที่อยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสนใจ และยินดีสนับสนุน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่จีนต้องการเร่งรัดให้เกิดขึ้น 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้บริหารของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยพร้อมสนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนในไทยด้วย

“โครงการนี้เป็นที่สนใจของหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล และเอกชน โดยมีเอกชนบางรายที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรือมาแล้วทั่วโลกสนใจมาลงทุน โดยมั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความคุ้มค่าในการลงทุนแน่นอน” นายพรหมินทร์ กล่าว

สนข.ยันดูไบเวิลด์ลงพื้นที่สำรวจเดือนนี้

นายปัญญา ชูพานิชผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า บริษัท Dubai Port World (DP World) บริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ทางน้ำ ได้ประสานขอเดินทางมาลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการในเดือน ก.พ.นี้ นับเป็นสัญญาบวกของการสนใจร่วมทุนจากบริษัทต่างชาติที่มีชื่อเสียงในวงการด้านโลจิสติกส์ทางน้ำ

อย่างไรก็ดี สถานะปัจจุบันของโครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนทั่วโลก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573

ชี้ IRR สูง 10% ต่อปี

ทั้งนี้ สนข.ในฐานะหน่วยงานศึกษาความเหมาะสมการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ยืนยันได้ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน มีผลตอบแทนการลงทุนโครงการวัดจาก Internal Rate of Return (IRR) สูงกว่า 10% ต่อปี อีกทั้งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี

รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มสร้างอาชีพใหม่ให้ชุมชน และส่วนสำคัญของการผลักดันโครงการนี้จะสนับสนุนขีดความสามารถการขนส่งสินค้าทางเรือของไทย ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเชื่อมการขนส่งทั่วโลก