กองทุนน้ำมันฯ อุ้มดีเซลใกล้แสนล้าน 'ปลัดพลังงาน' คาด 3 ปี เคลียร์หนี้ติดลบ

กองทุนน้ำมันฯ อุ้มดีเซลใกล้แสนล้าน 'ปลัดพลังงาน' คาด 3 ปี เคลียร์หนี้ติดลบ

"กองทุนน้ำมัน" ควักเงินอุ้มดีเซลใกล้แตะแสนล้าน ให้อยู่ในระดับ 29.94 บาทต่อลิตรตามนโยบายรัฐ หลังน้ำมันโลกสวิงหนัก เงินไหลออกหมื่นล้านบาทต่อเดือน ล่าสุดฐานะกองทุนฯติดลบทะลุ 8.78 หมื่นล้านบาท "ปลัดพลังงาน" คาด 3 ปี เคลียร์หนี้ติดลบ

Key point

  • กองทุนน้ำมันฯ โอดควักอุ้มอีเซลเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นล้าน
  • คาดเดือนเม.ย. 67 กองทุนน้ำมันติดลบทะลุ 1 แสนล้าน รับอุ้มราคาดีเซลได้แค่พ.ค. 67
  • "ปลัดกระทรวงพลังงาน" ยันอุ้มราคาไม่ให้สูงเกินไป ตั้งเป้า 3-4 ปีนี้จะต้องดึงเงินเข้ากองทุนฯ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอีกระดับ 0.73 บาทต่อลิตรจากเดิมอุดหนุนที่ 4.57 บาทต่อลิตรเป็น 5.30 บาทต่อลิตร หลังราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักจ่ายเฉพาะดีเซลวันละ 375 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 1.1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบกับรายได้จากกลุ่มน้ำมันเบนซินและชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อีกราว1,700 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกวันละ 320.50 ล้านบาทหรือเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงมีทิศทางผันผวนในระดับเฉลี่ย 105-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดว่าฐานะ กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบประมาณ 100,000 ล้านบาทภายในเดือนเม.ย. 2567 นี้

ราคาน้ำมันที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนสูงเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก ทั้งจากการสู้รบในทะเลแดง และในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา รัสเซียและยูเครนมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นภายหลังนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฎิเสธข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเช่นกัน แต่ล่าสุดความเคลื่อนไหวราคาเริ่มอ่อนตัวลง คงจะต้องติดตามวันต่อวัน” แหล่งข่าวกว่า

ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 ก.พ. 2567 มีฐานะสุทธิติดลบ 87,828 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • บัญชี LPG ติดลบ 46,584 ล้านบาท
  • บัญชีน้ำมันติดลบ 41,244 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันฯ ยังคงเหลือเงินกู้ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีก 30,333 ล้านบาท (จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท) เพื่อการบริหารดูแลราคาดีเซล

สำหรับมาตรการดูแลดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2567 นี้ หากดูจากวงเงินที่เหลือบริหารอาจจะยืดได้ถึงแค่เดือน เม.ย. 2567 เท่านั้น จากนั้นในเดือนพ.ค. 2567 ทุกอย่างจะเกิดปัญหากระทรวงพลังงานเองก็กำลังเร่งหาแนวทางที่จะดำเนินการในเรื่องนี้โดยจะต้องสรุปออกมาให้ชัดเจนในช่วงเดือนมี.ค. และต้นเดือนเม.ย. โดยเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ของกองทุนฯ ต่างจากอดีตที่เป็นวิกฤติราคาน้ำมันแต่วันนี้เป็นวิกฤติสภาพคล่องกองทุนน้ำมันแล้วโดยการกู้เพิ่มนั้นแม้แต่สถาบันการเงินรัฐก็คงไม่สามารถดำเนินการให้ได้หากเราไม่มีแหล่งรายได้ไปการันตี

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ราคาพลังงานสำคัญต่อการเป็นอยู่ของประชาชน กระทรวงพลังงานพยายามบริหารนโยบายไม่ให้ทั้งราคาค่าไฟและราคาน้ำมันสูงเกินไปโดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ มาช่วยสนับสนุน และตั้งเป้า 3-4 ปีนี้จะต้องดึงเงินเข้ากองทุนฯ ให้ได้ และให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้ปตท. รับไว้หลักหมื่นล้านบาท ส่วนกฟผ.เหลือเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องคืน