ความเห็น สภาพัฒน์ ในรายงาน ป.ป.ช. ชี้ ดิจิทัล วอลเล็ต เพิ่มความเสี่ยงการคลัง

ความเห็น สภาพัฒน์ ในรายงาน ป.ป.ช.  ชี้ ดิจิทัล วอลเล็ต เพิ่มความเสี่ยงการคลัง

เปิดความเห็น "สภาพัฒน์" ในรายงาน ป.ป.ช.กรณีรัฐกู้เงินแจกดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้าน ชี้เศรษฐกิจไทย - เศรษฐกิจโลก ยังไม่มีสัญญาณวิกฤติ ห่วงจีดีพีโตได้ระยะสั้นๆแค่ปี 67 ระบุตัวคูนทางการคลังน้อยแค่ 0.4 ชี้นโยบายสร้างความเสี่ยงทางการคลัง พื้นที่การคลังเหลือไม่พอรับวิกฤต

รายงานเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานได้มีการสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไป

โดยรายงานของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วอลเล็ต (บอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่) ออกไปจากเดิมที่กำหนดให้มีการประชุมวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าการเลื่อนการประชุมเพื่อรอเอกสารจาก ป.ป.ช. และจะเอาเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมบอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ พร้อมกับจดหมายตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาร่วมกัน

ทั้งนี้ในรายงานเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่ป.ป.ช.จัดทำขึ้นได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน โดยหน่วยงานหนึ่งที่คณะกรรมการได้มีการขอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)โดยมีข้อมูลที่นำเสนอ ป.ป.ช.ดังนี้

“สศช.ชี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง”

สศช.ได้แถลงข้อมูลของสภาวะทางเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ.2566  รวมถึงแนวโน้มในปี พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2566 มีการขยายตัว 1.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขยายตัว 1.8% รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง รวมถึงการลงทุนของเอกชนมีการขยายตัวต่อเนื่อง

ในส่วนการส่งออกและการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐมี การปรับตัวลดลง ส่วนแนวโน้มของปี พ.ศ.2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนข้อจำกัดที่เป็นความเสี่ยงสำคัญ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดภาคการส่งออกสินค้าและภาคการผลิต รวมถึงระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมถึงการแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าของภาคเกษตรได้ สำหรับในปี พ.ศ.2567คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดีขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.7 – 3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2567 การส่งออกจะกลับมาขยายตัวขึ้นจากที่ติดลบในปีที่ผ่านมาส่งผลให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ข้อจำกัดที่มีความน่ากังวล คือ แรงขับเคลื่อนด้านการคลังยังมีข้อจำกัดอยู่ ภาคหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์สูง ปัญหาภัยแล้งและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ

สำหรับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง คือ อัตราเงินเฟ้อ โดยในไตรมาสที่ 3/2566 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ซึ่งใน 9 เดือนแรก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ ร้อยละ 1.5% โดยแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 1.4% ส่วนใน ปี พ.ศ.2567  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2%

ในส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 62.1%  ของ GDP ซึ่ง 98%  เป็นเงินกู้ภายในประเทศ และ 1.4% เป็นเงินกู้ต่างประเทศ โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในปี พ.ศ. 2567 จะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 64%

ไม่มีสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

ในปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศใด เพราะการที่จะนับว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจได้นั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องมีการติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีภาวะการชะลอตัวของหลาย ๆ ประเทศในยุโรป เช่น ประเทศเยอรมันก็ยังติดลบเพียงไตรมาสเดียว หรือประเทศสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3

 นอกจากนี้ ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 8% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส และขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดบริการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง 15%  สอดคล้องกับการกลับมา

ฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 4% หมวดกึ่งคงทนขยายตัว 1% และหมวดสินค้าคงทน เช่น ยานยนต์ยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์เพื่อประกอบการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางว่า ในปี พ.ศ. 2567 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% และปี พ.ศ.2568 จะเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% และจะชะลอตัวลดลงเหลือ  3.4% ในปี พ.ศ.2569 – 2570  โดยมีค่าเฉลี่ยในระยะปานกลางอยู่ที่ 3.3%

 

ห่วงGDPสูงแค่ปี 2567 จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้าน

ในส่วนของตัวทวีคูณทางการคลังจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายปัจจัย เช่น มาตรการต่าง ๆที่ออกมาแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ค่าตัวเลขอาจจะออกมาไม่ตรงกับที่สำนักงาน สภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น แต่แม้ตัวทวีคูณทางการคลังจะสูงกว่าที่สำนักงานสภา พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ก็จะเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่มาตรการนั้น ออกมา เช่น จะมีค่าตัวเลขที่สูงขึ้นในปี พ.ศ. 2567 แต่ในปี พ.ศ.2568 เป็นต้นไป เมื่อไม่มีมาตรการ 5 แสนล้านบาท มาช่วยกระตุ้นในทุก ๆ ปี ก็จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงหรืออาจจะติดลบก็เป็นได้

 “ในส่วนที่มีการให้ข้อมูลว่าจะเกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 2- 3 รอบ ผู้ให้ข้อมูลอาจจะเห็นภาพว่ามีการเปลี่ยนมือของเงิน 2 - 3 รอบ หรือ 2 - 3 คน แต่ในแง่ของการนำมาคำนวณเป็นตัวเลขด้านเศรษฐกิจหรือตัวเลข GDP เป็นการใช้หลักเกณฑ์การคิดมูลค่าเพิ่ม คือ ไม่ได้คิดมูลค่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่จะใช้มูลค่าเพิ่มที่มีการหักลบต้นทุนสินค้าขั้นกลางไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่การหมุน 2 - 3 รอบ ดังกล่าว”

 

การแจกเงินสร้างตัวคูณทางการคลังแค่ 0.4  

ตัวทวีคูณทางการคลังที่สำนักงนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้อยู่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.การใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง มีตัวทวีคูณทางการคลัง เท่ากับ 1

2. การลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะมีการลดทอนในส่วนของการนำเข้า  35% - 40%  จึงมีค่าตัวทวีคูณทางการคลังน้อยกว่า 1 อยู่ที่ประมาณ 0.65 และ

3.การใช้จ่ายผ่านการโอนเงิน มีตัวทวีคูณทางการคลัง น้อยกว่า 1 อยู่ที่ประมาณ 0.4 โดยมีหลักการว่าภาคประชาชนไม่ได้ใช้จ่ายเงินทั้งหมดที่ได้รับมา โดยบางส่วนใช้สำหรับสินค้าบริโภคที่จำเป็น บางส่วนก็จะใช้จ่ายในสินค้าที่นำเข้า จึงมีการตัดทอนค่าตัวทวีคูณทางการคลังให้น้อยลง ซึ่งนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก็จะจัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย

ปัจจุบันเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ นโยบายโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี ส่วนร่วมในการให้ความเห็นถึงมุมมองในภาพรวมของเศรษฐกิจรวมถึงประเด็นความเสี่ยง โดยจะได้มีการนำเสนอมติของคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนของการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว แต่หากมีความชัดเจนแล้ว ในขั้นตอนที่คณะกรรมการฯจะเสนอเรื่องเข้าไปยัง ครม. เพื่อพิจารณา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังคงมีหน้าที่

และอำนาจในการให้ความเห็นอีกรอบหนึ่ง แต่ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้วจะไม่อยู่ในขอบข่ายหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยการติดตามประเมินผลน่าจะอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการประเมินผลซึ่งเห็นว่าควรจะประกอบด้วย หน่วยงานภายนอกและกระทรวงการคลัง

เนื่องจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของวงเงิน ประเภทของสินค้าและบริการที่จะสามารถใช้จ่ายได้ ระยะเวลาการดำเนินงาน หรือแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มในปีหน้าจะเห็นว่าสถานการณ์ทางด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี ซึ่งหากจะมีการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม จากการใช้จ่ายเงินของภาครัฐในขณะที่ประเทศยังมีข้อจำกัด

ชี้ดิจิทัล วอลเล็ตเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง

สศช.ระบุด้วยว่าด้านความเสี่ยงทางการคลั่ง โดยการนำเงินภาครัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ถึงแม้จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในระยะสั้น หากในปีถัดไปไม่มีมาตรการมากระตุ้นอย่างต่อเนื่องก็จะ มีความเสี่ยงที่ตัวเลขจะลดลงไปอีก รวมถึงระดับหนี้สาธารณะซึ่งกำหนดกรอบเพดานอยู่ที่ 70% ของ GDP ซึ่งปัจจุบันปี พ.ศ. 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 63% และคาดว่าปี พ.ศ.2567 อยู่ ที่ประมาณ 64% หากมีมาตรการตามนโยบายดังกล่าวเข้ามาจะทำให้ระดับ หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบถึงการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศในด้านเสถียรภาพทางด้านการคลังของประเทศ

เบื้องต้น หากพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเห็นว่าการบริโภคขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และการกระตุ้นด้วยการบริโภคก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ความเสี่ยงทางการคลังประกอบกับปัจจัยความเสี่ยงในอนาคตค่อนข้างจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น การสู้รบในประเทศอิสราเอลซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถผ่านพันภาวะวิกฤตมาได้เนื่องจากเรามีพื้นที่ทางการคลังอยู่พอสมควร และถึงแม้แนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย Digital Wallet จะยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควรแต่ สศช.ก็ลองนำงบประมาณตามโครงการดังกล่าว จำนวน 5 แสนล้านบาท มาคำนวณคร่าว ๆ แล้ว ปรากฏว่าจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.7 – 0.8%  แต่จะลดลงในปี พ.ศ. 2568 เพราะแรงกระตุ้นที่ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น หากเรานำเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายดังกล่าวมาเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอาจจะมีความเหมาะสมกว่า

แนะการยกระดับเศรษฐกิจต้องปรับโครงสร้าง

ตามบริบทโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 3.2 – 3.5% หากต้องการยกระดับการเจริญเติบโตให้มากขึ้นกว่านี้สิ่งที่ต้องทำคือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตในระยะยาว ได้แก่ การปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการผลิต รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ส่วนภาคการท่องเที่ยวต้องมีการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักแรมในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น

รวมถึงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน เข้ามาลงทุนมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสามารถยกระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว