ค่ายรถยนต์แห่ขอ สมอ.มาตรฐานยูโร5 ดูแลสิ่งแวดล้อม-ลดฝุ่นจิ๋ว“พีเอ็ม2.5”

ค่ายรถยนต์แห่ขอ สมอ.มาตรฐานยูโร5  ดูแลสิ่งแวดล้อม-ลดฝุ่นจิ๋ว“พีเอ็ม2.5”

​“พิมพ์ภัทรา”เร่งกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ดีเดย์ 1 ม.ค. 67 เชื่อมั่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 1 ม.ค.2567 กระทรวงอุตสาหกรรมจะบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด 

“ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต มอก. ได้ทันตามกรอบเวลาการบังคับใช้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและสร้างเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย”

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานยูโร 5 โดยเปิดรับให้ยื่นคำขอตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพของโรงงาน และคำขอรับบริการทดสอบผลิตภัณฑ์รถยนต์ ผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา 

รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตสำหรับมาตรฐานยูโร 5 โดย สมอ. ยอมรับผลทดสอบให้สามารถนำมาใช้ในการขอการรับรองมาตรฐานได้จากการเปิดรับคำขอผ่านระบบ E-license จนถึงวันที่ 28 ธ.ค. 2566 มีผู้ประกอบการมายื่นขอรับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 50 คำขอ รวม 25 ราย เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น 

ทั้งนี้ สมอ. พร้อมออกใบอนุญาตสำหรับรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 ทันที เมื่อมาตรฐานมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สมอ. มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวกับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน วันที่ 1 ม.ค. 2568 

สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถประเภทอื่นที่เหลือ จะต้องพิจารณาดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร5 เกิดขึ้นจากคณะรัฐมนตรีมี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)”โดยมุ่งปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก็สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562

นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2567น้ำมันมาตรฐานยูโร5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ และช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า รถยนต์มาตรฐานยูโร 3 และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดเมื่อใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24% อีกด้วย

ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ได้ดำเนินการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานยูโร5แล้ว ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC