GenAI กับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2024

GenAI กับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2024

เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2024 อันดับหนึ่งคือ AI และ Automation ถือเป็นโอกาสของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ในบริษัทโฟกัส Core Function ให้คนทำงานควบคู่กับสั่ง AI ที่เหลือโยนไป Outsource เดินได้เร็วกว่า เรียบง่ายกว่า ถูกทิศทาง

ตั้งแต่ผมใช้ GenAI ในการทำงาน ผมรู้สึกว่าทำงานได้เร็วขึ้นเป็นสิบเท่า วัน ๆ สนุกกับการสั่งงาน AI ที่ผมเทรนไว้ประมาณ 8 ตัว แล้วโฟกัสกับการตรวจงานของมันก่อนส่งต่อให้ทีมงานไปปฏิบัติ แล้วหลังจากอบรมทีมงานรอบตัวให้ใช้ AI ทีมงานก็ปิดงานกลับมาให้ผมได้เร็วขึ้น รวมแล้วทั้งทีมปิดงานได้เร็วขึ้นอีกหลายสิบเท่า

ตอนนี้ทุกคลาสที่ผมเปิดอบรม ไม่ว่าจะด้านการตลาด ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ หรือ Data ผมจะแทรกการใช้ AI เข้าไป โดยครอบคลุมเนื้อหาระดับพื้นฐานหรือระดับสูงก็แล้วแต่ระดับผู้เรียน ถ้าบางคลาสกลุ่มผู้เรียนปะปนกันก็ให้ยกมือว่าใครรู้อะไรขนาดไหนแล้วเจาะเฉพาะจุดที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้หรือสนใจ สอน AI 30 นาที เวลาอบรมที่เหลือจะอีกกี่ชั่วโมง เราก็สามารถแบ่งปันความรู้ให้ได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า เพราะบางหัวข้อที่ไม่ใช่แกนหลัก แต่เป็นพื้นความรู้ที่ต้องรู้เพื่อใช้ต่อยอด เราก็สามารถอธิบายได้อย่างรวดเร็วเฉพาะจุดสำคัญ ๆ แล้วให้ไปถาม AI กันต่อ ส่วน Workshop ที่ให้ผู้อบรมทำ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อที่ประยุกต์ใช้กับธุรกิจของผู้อบรมเอง หรือทดลองตั้งธุรกิจใหม่ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เนื้อหาก็ลงลึกได้เข้มข้นขึ้น เพราะผู้อบรมสามารถลงรายละเอียดที่ปกติต้องใช้เวลาหลายวันในการคิดและประมวลผลลัพธ์ เหลือเพียงไม่กี่สิบนาทีก็เสร็จแล้ว

ตลอดปี 2023 นี้ เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่า GenAI มีพัฒนาการต่อเนื่องและก้าวกระโดดมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้ตัวผมเองในฐานะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล รู้สึกสนุกมากขึ้น เพราะ Data คืออาหารสมองของ AI อยู่แล้ว เมื่อก่อนคอขวดในงานด้านข้อมูลคือการรอทีมงานทำความสะอาดข้อมูล ประมวลผล สร้างกราฟ เข้าโมเดลคำนวน 4-5 แบบ หลายวันกว่าจะได้ผลออกมาให้เราดู และต้องใช้จำนวนทีมงานและเวลาสูง แต่ทุกวันนี้เพียงนึกโมเดลออก 10 โมเดล ก็สั่งให้ AI ทำ ใช้เวลาไม่ถึงนาทีก็ออกผลมาให้เราดูได้เลย

กระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและกินเวลาแค่ไหนไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป ขอแค่เราแน่นในความรู้ของสายงานนั้น สั่ง AI ทำเป็น และเมื่อได้ผลมาก็นำไปปฏิบัติเป็น นี่คือผู้ช่วยที่จะทำให้ทุกคนเดินได้เร็วขึ้นหลายเท่า ประสบการณ์และวิสัยทัศน์ยิ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหามาเติม เพราะเรื่องพื้นฐาน-งานทำตามสั่ง AI เข้ามาทำแทนได้หมดแล้ว

นักวิเคราะห์ + GenAI = ทดลองใช้โมเดลประมวลผลได้ไม่จำกัดจำนวนแบบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ลึกและแม่นยำที่สุด พร้อมส่งต่อให้ผู้บริหารไปตัดสินใจต่ออย่างรวดเร็ว

นักเขียน + GenAI = ค้นคว้าข้อมูลประกอบได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มมิติให้กับเรื่องราว และผู้อ่านยังสามารถดึงบทสรุป หรือคัดเลือกเฉพาะใจความที่ต้องโฟกัสอ่านได้ตามต้องการ

นักธุรกิจ + GenAI = สร้างแผนธุรกิจได้ไม่จำกัดจำนวนแผน เพื่อได้เลือกและต่อยอดบนแผนที่ดีที่สุด พร้อมให้ทีมงานปฏิบัติตามอย่างรวดเร็ว

จาก “Data-Driven Organization” ที่ สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนเข้าใจ-เชื่อมั่นในคุณค่าของข้อมูล และใช้ข้อมูลเป็นหลักในการตัดสินใจ-กำหนดทิศทางการทำงานในทุกระดับ จนถึง “AI-First” ที่ปลูกฝังความรู้และแนวคิดในการใช้ AI มาช่วยในการวางแผน วิเคราะห์ ปรับปรุงการดำเนินงาน พัฒนาสินค้า-บริการ ทำให้การดำเนินงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กรที่นำไปปรับใช้

เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2024 เรื่องที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือ AI และ Automation ถือเป็นโอกาสของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่วันนี้อาจใช้คนเพียงไม่กี่คน ก็ตั้งบริษัทที่ทำงานได้เทียบเท่ากับเมื่อก่อนที่ใช้คนเป็นสิบ ในบริษัทโฟกัสแค่ Core Function ไว้ก็พอ ให้คนทำงานควบคู่กับสั่ง AI ที่เหลือโยนไป Outsource ให้หมด เดินได้เร็วกว่า เรียบง่ายกว่า ถูกทิศทางกว่า โดยหัวใจคือ

1. ความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติต่อ AI และ Data: เรียนรู้การใช้ AI เพื่อช่วยการทำงาน และการจัดการและประมวลผล Data ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร

2. ใช้ AI เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับคน ไม่ใช่แทนที่พวกเขา: ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กรยังคงเป็นคน ไม่ใช่แนวคิดการแทนที่คน เราต้องเน้นการนำ AI มาปรับใช้เพื่อมุ่งเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรทำงานได้เร็วขึ้น ทำสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้น ตัดสินใจอย่างเป็นกลางมากขึ้น แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดข้อผิดพลาดลง ฯลฯ

3. วางตำแหน่งคนเป็นข้างหน้าและศูนย์กลางของ AI: คำนึงถึงการวางคนที่เกี่ยวข้องให้ถูกจุด ทั้งเป้าหมายข้างหน้าที่แต่ละคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ใช้งาน จนถึงผู้ปฏิบัติงาน พนักงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงตอบสนองแนวคิดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric Approach)

ดร. ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล แชร์ให้ฟังตอนไปเสวนาด้วยกันบนเวที “เปิดโลกหนังสือกับ AI” จัดโดย DOKYA EBOOK ว่า “AI ไม่ได้แย่งงานคน แต่คนที่ใช้งาน AI เป็นนั่นล่ะ ที่จะแย่งงานคนที่ใช้ AI ไม่เป็น!”

ในคลาสที่ผมจัดอบรมล่าสุด พอถามว่าใครเคยใช้ GenAI บ้าง นับแล้วดูยังยกมือกันไม่ถึง 10% พอลองให้ใช้งานจริง ส่วนใหญ่ก็ยังเพิ่งได้ระดับพื้นฐานอยู่ เดี๋ยวปีหน้าจะลุยจัดอบรมและเขียนบทความด้านนี้ในมุมมองที่ผมมองว่าสำคัญเรื่อย ๆ แล้วสิ้นปีจะลองนับใหม่จำนวนใหม่แล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ