ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือนยังฟื้นต่อเนื่องเดือน ต.ค.66 เพิ่ม 8.73%

ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือนยังฟื้นต่อเนื่องเดือน  ต.ค.66  เพิ่ม 8.73%

จีไอที เผย ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน ต.ค.66 มูลค่า 748.21 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 8.73% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 2 เดือน คาดแนวโน้มส่งออกยังดีต่อเนื่อง หลังเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เผยผู้ผลิตไทยสุดเจ๋ง ทำสินค้าตอบโจทย์สายมูเตลู ดันออเดอร์พุ่ง

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที( GIT) เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนต.ค.2566 มีมูลค่า 748.21 ล้านดอลล่าร์เพิ่มขึ้น 8.73% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,576.92 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30.69% เพราะมีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไร จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น และรวม 10 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,391.86 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 9.05% และรวมทองคำ มูลค่า 12,705.21 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.76%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม 185.11% อิตาลี เพิ่ม 37.56% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 6.30% ส่วนสหรัฐฯ ลด 11.44% อินเดีย ลด 51.77% เยอรมนี ลด 15.41% สหราชอาณาจักร ลด 4.62% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 8.16% สิงคโปร์ ลด 30.90% และเบลเยียม ลด 2.95%

 ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 26.42% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 1.15% พลอยก้อน เพิ่ม 7.23% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 79.78% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 96.71% อัญมณีสงเคราะห์ เพิ่ม 55.18% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 9.89% เพชรก้อน ลด 28.25% เพชรเจียระไน ลด 26.85% เครื่องประดับเทียม ลด 5.93% และทองคำ ลด 22.41%

ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือนยังฟื้นต่อเนื่องเดือน  ต.ค.66  เพิ่ม 8.73%

นายสุเมธ กล่าวว่า   แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่หลายประเทศสำคัญสามารถกลับมาจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับ มีคำสั่งซื้อเพื่อเตรียมรับการบริโภคจากเทศกาลใช้จ่ายปลายปี ทั้งช่วงคริสมาสต์และปีใหม่ และค่าเงินบาทอ่อนค่า เป็นปัจจัยส่งเสริมให้สินค้าไทยแข่งขันได้

แต่ก็ต้องจับตาเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีสัญญาณว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยสูงนานกว่าที่คาด เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนการบริโภคในยุโรปและจีน ที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุน จึงลดการใช้จ่ายและเก็บออมมากขึ้น รวมทั้งยังมีความกังวลปัญหาการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในแห่งอื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่

 ทั้งนี้ ประเมินว่า สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะมีการนำเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแส หรือที่สามารถหลอมรวมเข้ากับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับก่อให้เกิดเป็นสินค้าในไลน์ใหม่ ๆ ทำให้สามารถขยายฐานผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น เช่น สินค้า Art Toy ที่ผสมเข้ากับความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ออกมาเป็นคอลเลกชันเฉพาะให้ทั้งสายมูเตลูและผู้ชื่นชอบ Art Toy ได้สะสม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสริมความน่าสนใจให้สินค้าได้

ขณะที่การนำ Art Toy มาผสมผสานเป็นเครื่องประดับชาร์ม หรือจี้ประดับ มีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างแบรนด์ Ravipa ที่ประสบความสำเร็จ กระทั่งขึ้นชื่อเครื่องประดับสายมูสุดปังที่ติดตลาด แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเทรนด์ใหม่ ๆ ในปัจจุบันเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงต้องเลือกจับคู่ให้เข้ากับสินค้าแต่ละแบบทั้ง Mass Market หรือ Unique Market และมีความฉับไวในการหาโอกาสเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง