สนค.วิเคราะห์ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก

สนค.วิเคราะห์ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก

สนค.วิเคราะห์ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 5-10 % ส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิตและบริการ   0.41 – 1.77% ใน 5 กลุ่มสินค้า "กลุ่มอาหารสำเร็จรูป  ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด "แต่เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า  สนค.ได้วิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงาน ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

สนค.วิเคราะห์ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวันและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567 ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ขณะเดียวกันจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปสู่การสูงขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ  

ทั้งนี้การปรับค่าจ้างในอัตราข้างต้นจะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น ระหว่าง  0.41 – 1.77% โดยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ส่งผลต่อสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งในภาพรวมระดับราคาเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.27 – 1.04%  สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป  ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น อาทิ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อยู่ในภาคการผลิตภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม ข้าว อยู่ในภาคการทำนา การสื่อสารอยู่ในภาคการผลิตบริการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสาร และผักสด อยู่ในภาคการผลิตการปลูกพืชผัก

โดยสรุป การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ตั้งแต่ 5 - 10% จึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้ 1. กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5 %หรือ 353.85 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.41 %และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.27% ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.88%
และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.52%
2.กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10 %หรือ 370.70 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น0.82 %และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.55 %ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.77 %และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.04%
อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านต้นทุนค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดไปยังราคาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยหลาย อาทิ ภาวะการแข่งขันทางการค้า รสนิยมและกำลังซื้อของผู้บริโภคและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับบ่อยครั้งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการทั้งด้านพลังงาน (ลดค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล) และภาษี  และเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการมีวิธีบริหารจัดการในหลายรูปแบบ อาทิ การกำหนดนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการ ผลตอบแทน และโบนัสภายในองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้าง การลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานคน

ดังนั้น แม้ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้ แต่การปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างความเป็นธรรมให้ระบบการจ้างงาน และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป