‘สภาพัฒน์’ คาดเศรษฐกิจปี 67 โต 3.2% ยังไม่ได้รวม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ในประมาณการ

‘สภาพัฒน์’ คาดเศรษฐกิจปี 67 โต 3.2%  ยังไม่ได้รวม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ในประมาณการ

‘สภาพัฒน์’ คาดเศรษฐกิจปี 67 โต 3.2% ยังไม่ได้รวม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ในประมาณการ รอกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมาย ชี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในโหมดฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากโควิด-19 ชี้การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินมีผลต่อเศรษฐกิจไม่มาก ยกคนละครึ่งดันจีดีพีได้แค่ 0.4%

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด -19

โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัวได้ 1.5% แต่ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่ขยายตัวได้ดีขึ้น  สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3.2% โดยตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้า สศช. ยังไม่ได้คำนวณเรื่องนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไว้ เพราะต้องดูก่อนว่าสุดท้ายแล้วจะใช้วงเงินประมาณเท่าไหร่ และต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมาย รวมทั้งยังต้องรอความชัดเจนเรื่องอื่น ๆ ทั้งรูปแบบการใช้จ่าย และร้านค้า ประกอบด้วย ส่วนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ สศช. มองเห็นโมเมนตั้มการส่งออกปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลไปถึงภาคผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามมา ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี

 

เมื่อถามว่าในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไร เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงการที่จะออกมาด้วย แต่จากข้อมูลย้อนหลังพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินนั้นเหมาะสมสำหรับการพยุงเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาในช่วงที่การอุปโภคบริโภคของประชาชนลดลงอย่างรุนแรงเท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 รัฐบาลในขณะนั้นได้ทำโครงการคนละครึ่งซึ่งมีผลต่อจีดีพีเพียง 0.4% และผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อๆมาก็จะลดน้อยลง

โดยในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาวคือ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร รวมทั้งการเร่งผลักดันการท่องเที่ยว การผลักดันการส่งออก ผ่านการขยายการเจรจาการค้าภายใต้กรอบเอฟทีเอมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนภาคการส่งออกให้ปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ณ ปัจจุบันการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เลขาฯ สศช. ย้ำว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว สามารถทำได้หมายมาตรการประกอบกัน แต่ตัวหลัก ๆ เห็นว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญที่สุด เพื่อให้การส่งออก และการขยายการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวดีขึ้นในอนาคต

‘สภาพัฒน์’ คาดเศรษฐกิจปี 67 โต 3.2%  ยังไม่ได้รวม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ในประมาณการ

“ถ้าเราดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าตั้งแต่หลังโควิดเราประสบความผันผวน และความเสี่ยงจากภายนอกมาตลอด แต่เมื่อโควิดคลี่คลายก็มีเรื่องเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด ส่งผลต่อส่งออก แต่เศรษฐกิจภายในยังขยายตัวได้ดี ทั้งบริโภค และภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ดังนั้น โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีกกว่านี้ก็ต้องปรับโครงสร้างใหม่”

สำหรับเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 สศช. ประเมินแนวโน้มว่า จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% หรือประมาณ 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญหลายด้าน เช่น การกลับมาขยายตัวของการส่งออก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว