ทอท.ปรับยุทธศาสตร์องค์กร มุ่งสู่ฮับผู้โดยสาร - คาร์โก้

ทอท.ปรับยุทธศาสตร์องค์กร มุ่งสู่ฮับผู้โดยสาร - คาร์โก้

“เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย” เดินหน้าเขย่ายุทธศาสตร์ ทอท. ปั้นสู่องค์กรชั้นนำ บริหารสนามบินแชมป์ผู้โดยสารและขนส่งสินค้าของโลก ขีดเส้นสร้างสมดุลรายได้นอกธุรกิจการบินถึงเป้าหมาย 30%

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ผู้บริหาร 6 ท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย ครองปริมาณผู้โดยสารแต่ละปีสูงมากกว่า 100 ล้านคน ขณะนี้อยูช่วงเปลี่ยนผ่านบริการด้วยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยี และปรับยุทธศาสตร์บริหารองค์กร มุ่งสู่เป้าหมายการขึ้นเป็นท่าอากาศยานชั้นนำของโลกทั้งด้านปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพการวางแผนปรับยุทธศาสตร์องค์กรไปสู่เป้าหมาย โดยระบุว่า บทเรียนจาก “โควิด-19” สอนผู้บริการท่าอากาศยานถึงเวลาต้องปรับตัว ลดความแออัด และเว้นช่องว่างให้ผู้โดยสารมากขึ้น เพื่อรองรับการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ ทอท.พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารยังไม่ฟื้นตัวเป็นปกติ เร่งลงทุนขยายพื้นที่ท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสิ่งสำคัญ คือการบริหารกระบวนการงานบริการให้เป็นระบบ จัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ท่าอากาศยานสามารถมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น

“วันนี้การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว รัฐบาลโปรโมทการตลาดเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาจุดอ่อนของ ทอท.คือ พัฒนาช้า โครงการที่จะลงทุนทำได้ช้ากว่าแผน ดังนั้นถึงเวลาต้องปรับตัว นอกจากจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานบริการ สิ่งสำคัญต้องปรับ Process กระบวนการทำงานใหม่ เพื่อทำให้บริการในสนามบินรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ภายใต้กายภาพที่มีอยู่”

ทอท.ปรับยุทธศาสตร์องค์กร มุ่งสู่ฮับผู้โดยสาร - คาร์โก้

สำหรับแนวคิดการปรับกระบวนการทำงานเป็นเรื่องดำเนินการได้ทันที อาทิ บริหารจัดการเคาน์เตอร์เช็คอินให้เปิดบริการได้ทุกจุด การจัดกลุ่มสายการบิน และผู้โดยสารที่พร้อมมาใช้บริการระบบเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Auto Check-in System) รวมถึงประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับกระบวนการทำงานของด่านตรวจคนเข้าเมืองและกรมศุลกากร บริหารพื้นที่ให้บริการมีประสิทธิภาพขึ้น

ขณะที่แผนการลงทุนขยายท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นส่วนของกายภาพนั้น ปัจจุบัน ทอท.มีแผนลงทุนที่เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร 

รวมถึงแผนพัฒนาอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร

“แผนลงทุนขยายสุวรรณภูมิเดินมาถูกทางแล้ว แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง ดังนั้นระยะสั้นที่จะให้สุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ทอท.ต้องปรับยุทธศาสตร์การทำงาน ปรับกระบวนการทำงานใหม่ ให้แก้ไขปัญหาบริการภายใต้กายภาพที่มีอยู่”

สำหรับการปรับกระบวนการทำงานที่ทำได้ทันที เพื่อไปสู่เป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 200 คน ในปี 2572 หรือมากกว่าเป้าหมายนั้น หากดีมานด์การเดินทางสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะขณะนี้สุวรรณภูมิพร้อมสู่เป้าหมายดังกล่าวแล้ว โดยจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 150 ล้านคน

ส่วนเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคนในปี 2572 มั่นใจว่าดำเนินการได้ หากบริหารกระบวนการทำงาน ใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เต็มขีดความสามารถ ทั้งอาคารผู้โดยสารหลัก และการเปิดให้บริการ (Soft Opening) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งจะขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และหากบริหารพื้นที่จัดกระบวนการบริการให้ดีจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 80 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีผลพวงจากการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 จะเสร็จเดือน ก.ค.2567 ทำให้รองรับเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิม 68 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นถึง 50%

อย่างไรก็ดี การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับบริการให้มากขึ้นจะทำให้ ทอท.เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานชั้นนำของโลก โดยเฉพาะสุวรรณภูมิจจะเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารสูงสุดในโลก จากปริมาณผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าท่าอากาศยานปักกิ่งที่เป็นแชมป์และรองรับได้ 100 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ การขยายรันเวย์ยังทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับเที่ยวบินขนส่งสินค้าได้มากขึ้น โดยธุรกิจขนส่งสินค้านับเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการสร้างรายได้ให้ ทอท.อย่างยั่งยืน จากเทรนด์ความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศยังมีต่อเนื่อง ประกอบกับบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นว่ารายได้จากผู้โดยสารลดลง แต่รายได้ขนส่งสินค้ากลับเพิ่มขึ้น

ดังนั้นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ ทอท.วางไว้ คือ การหารายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอร์โรว์) โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนจากการขนส่งสินค้าให้ถึง 30% ของรายได้ทั้งหมด อีกทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้า ซึ่งแนวทางดำเนินงานในเบื้องต้น อาทิ การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงตั้งหน่วยธุรกิจหรือสายงานใหม่ขององค์กร เพื่อผลักดันธุรกิจคาร์โก้อย่างจริงจัง

เอนก ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงการเข้าร่วมหลักสูตร “Wealth of Wisdom” หรือ WoW ด้วยว่า เป็นหลักสูตรที่รวบรวมผู้อบรมจากหลายธุรกิจ นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้ตนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ และนำมาปรับใช้กับการกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กร ทอท.เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายที่มีอยู่