คลังผุดวันสต็อปแวตรีฟันด์กระตุ้นท่องเที่ยว

คลังผุดวันสต็อปแวตรีฟันด์กระตุ้นท่องเที่ยว

คลังผุดวันสต็อปเซอร์วิสคืนแวตแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมพิจารณาเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นการตรวจปล่อยของกรมศุลกากรจาก 5 พันบาท เป็น 1 หมื่นบาท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ขณะที่ แนวทางการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมยังไม่ได้ข้อสรุป

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการที่จะเข้าไปส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยหนึ่งในมาตรการ คือ การลดขั้นตอนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า แวต รีฟันด์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ตนได้เรียกกรมสรรพากรและกรมศุลกากรมาหารือถึงแนวทางการลดขั้นตอนการคืนภาษีดังกล่าวโดยแนวทางที่ได้หารือนั้น มีทั้งการจัดให้มีจุดให้บริการคืนภาษีเพียงจุดเดียวหรือ วันสต็อบเซอร์วิส ซึ่งจะนำการให้บริการพิธีการตรวจสินค้าจากกรมศุลกากรและการคืนภาษีของกรมสรรพากรมาไว้ที่จุดเดียวกัน จากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต้องผ่านพิธีการตรวจสินค้าจากศุลกากรก่อน จากนั้น จึงไปขอคืนภาษีที่จุดให้บริการของกรมสรรพากรอีกจุดหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ยังได้พิจารณาข้อเสนอในเรื่องการเพิ่มวงเงินสินค้าที่จะต้องสำแดงหรือได้รับการตรวจปล่อยจากกรมศุลกากร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวและรวมถึงการเปิดให้มีจุดให้บริการตรวจสินค้าและคืนภาษีเพียงจุดเดียวด้วย โดยกระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์จากนั้น จึงจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

“ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะต้องต่อแถวและใช้เวลานานกว่าที่ขั้นตอนการตรวจสินค้าและการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อในประเทศและเตรียมนำออกนอกประเทศจะแล้วเสร็จ เราก็นำมาพิจารณาว่า จะช่วยลดขั้นตอนดังกล่าวได้อย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความประทับใจและอยากกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก”

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือการเพิ่มวงเงินของสินค้าที่ไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรจากปัจจุบันสินค้ามูลค่าไม่เกิน 5 พันบาท เป็น 2 หมื่นบาท ส่วนมูลค่าสินค้าที่ต้องนำสินค้าไปสำแดงเพื่อขอคืนภาษีกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจาก 1 หมื่นบาท กำลังพิจารณาให้เพิ่มเป็น 4 หมื่นบาท เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขการขอคืนภาษีในปัจจุบันนั้น ผู้โดยสารต้องมียอดซื้อไม่น้อยกว่า 2 พันบาท/ร้าน/ครั้ง ผู้โดยสาร 1 ราย ซื้อของมูลค่าไม่เกิน 5 พันบาท สามารถไปขอรับคืนภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากรโดยไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร

ส่วนของที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร 10 รายการ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป ได้แก่เครื่องประดับ ทองรูปประพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา มือถือ แล็บท็อบหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป

รายงานข่าวกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า นอกจากการเตรียมมาตรการอำนวยความสะดวกในการคืนแวตรีฟันด์แก่นักท่องเที่ยวแล้ว กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการส่งเสริมการช้อปปิ้งในไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย โดยแนวทางหลัก คือ การลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวและการช้อปปิง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าปลีกไทย เพื่อต้องการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นที่จะมาถึงนี้  ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ภาคการท่องเที่ยว เป็นตัวชูโรงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน

โดยหลักการ คือ ต้องการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ามาตรการจะออกมาเป็นอย่างไร โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อเริ่มใช้ทันภายในฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่นที่จะมาถึง 

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แนวนโยบายศึกษาการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม เช่น กระเป๋า เครื่องแต่งกาย นาฬิกา เครื่องสำอางหรูจากต่างประเทศ ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากประเมินว่าการลดภาษีแบรนด์เนมอาจไม่ตอบโจทย์กระตุ้นดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเท่าไร เพราะชาวต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อชอปปิงซื้อสินค้าแบรนด์เนมในไทย แต่จะเน้นเข้ามาท่องเที่ยววัฒนธรรม เที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากกว่า ซึ่งลูกค้าของแบรนด์เนม ส่วนมากจะเป็นชาวไทย และชาวจีนเป็นหลักเท่านั้น 

นอกจากนี้ ในการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวและการชอปปิง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าปลีกไทย ซึ่งมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง เป็นโต้โผใหญ่หลังจากมีการเรียกประชุมไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุม เพื่อติดตามผลเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด