การส่งออกให้ได้สิทธิตามความตกลง เขตการค้าเสรี FTA

การส่งออกให้ได้สิทธิตามความตกลง เขตการค้าเสรี  FTA

ประเทศไทยได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรี Free trade area : FTA ทั้งแบบทวิภาคีและระดับภูมิภาค ที่อาจเรียกชื่อความตกลงต่างกัน รวม 14 ฉบับ กับประเทศคู่ค้า 18 ประเทศ คือ

ความตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคี 6 ฉบับ ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) 2.ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) 3.ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) 4.ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA)

5.ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-เปรู (TPFTA) 6.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA)

ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค ซึ่งไทยดำเนินการในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียน 8 ฉบับ ได้แก่ 1.อาเซียน/ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN/AEC : ประกอบด้วยความตกลงที่สำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ความตกลงการค้าบริการอาเซียน และความตกลงการลงทุนอาเซียน) 2.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (ACFTA) 

3.ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) 4.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) 5.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) 6.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) 7.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) 8.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

การทำความตกลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เพิ่มศักยภาพในการส่งออกของไทย เพราะสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ตกลง หากเป็นสินค้าตามรายการที่ระบุในความตกลงจะได้รับสิทธิไม่ถูกจำกัดการนำเข้า และจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้า

แต่ทั้งนี้การส่งสินค้าไปยังประเทศคู่ตกลง ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตโดยถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าตามที่ระบุในความตกลงนั้น อันจะถือได้ว่าสินค้านั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

การส่งออกให้ได้สิทธิตามความตกลง เขตการค้าเสรี  FTA

กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า คือกฎเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสินค้านั้นมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศใด ซึ่งความตกลง FTA แต่ละความตกลงจะไม่เหมือนกัน แต่จะมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคล้ายกัน โดยมีข้อแตกต่างที่รายละเอียดปลีกย่อย และอาจมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะสินค้าบางชนิด

หลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ

- สินค้าที่ทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศ หรือผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtain)

สินค้าที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์นี้ถือว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศที่เกิดหรือผลิตขึ้น เช่น พืชหรือสัตว์ที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น หรือแร่ธาตุที่ขุดได้จากประเทศนั้น

- สินค้าที่ผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบที่นำเข้า จะต้องมีการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศไทย หลักเกณฑ์การพิจารณาว่ามีการแปรสภาพอย่างเพียงพอ มีสองหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ

- หลักเกณฑ์แรก พิจารณาจากกระบวนการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ โดยคำนวณมูลค่าเพิ่มเทียบเป็นสัดส่วนกับมูลค่าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบที่นำเข้า เป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าแต่ละหน่วยที่ผลิตได้ ราคาที่สามารถนำมาคำนวณ

มูลค่าที่เพิ่มขึ้นคือมูลค่าของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบภายในประเทศ ค่าแรงในการผลิต ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ สัดส่วนที่กำหนดโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 40-60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลเจรจาในการทำข้อตกลง สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มก็เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการเจรจา เพราะถ้าสัดส่วนน้อยก็เป็นการง่ายที่จะผลิตให้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด

- หลักเกณฑ์ต่อมาคือการผลิตจนได้สินค้าใหม่ จนพิกัดศุลกากรเปลี่ยนไป จากเดิมเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดกระบวนการผลิตที่แปรสภาพวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบที่นำเข้า จนเป็นสินค้าใหม่ เป็นพิกัดศุลกากรอีพิกัดหนึ่ง ซึ่งอาจกำหนดว่าพิกัดศุลกากรที่เปลี่ยนไปนั้น กี่หลัก คือ 2 หลัก หรือ 4 หลัก หรือ 6 หลัก

นอกจากเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าบางชนิด เช่น นอกจากต้องมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดแล้ว อาจกำหนดเงื่อนไข วัตถุดิบบางชนิดต้องเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดภายในประเทศเท่านั้น

การส่งออกให้ได้สิทธิตามความตกลง เขตการค้าเสรี  FTA

หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้ส่งออกต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ คือกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งรับรองว่าสินค้านั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตามที่กำหนดในความตกลงไปแสดงต่อทางการที่มีอำนาจหน้าที่ของประเทศนำเข้า

ปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับการใช้สิทธิตามความตกลง FTA ดังนี้

ATIGA/AFTA FORM D, FTA ASEAN-CHINA FORM EFTA THAI-AUSTRALIA, INDIA FORM FTA, FTA THAI-JAPAN FORM JTEPA, FTA ASEAN-JAPAN FORM AJFTA, ASEAN-KOREA FORM AKFTA. ASEAN-INDIA FORM AIFTA, ASEAN-AUS-NEW ZEALAND FORM AANZ, FTA THAI-PERU FORM TPFTA , THAI-CHILE FORM TCFTA, ASEAN-HONG KONG, CHINA FORM AHK

การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในปัจจุบันกรมการค้าต่างประเทศนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกมากขึ้น เรียกว่า DFT SMART C/O จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป

โดยนำร่องออกหนังสือรับรอง ระยะที่ 1 สำหรับความตกลง 5 ความตกลง คือ Form AHK Form RCEP Form AJCEP Form TPFTA Form TCFTA

สำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบนำเข้า หรือที่เรียกว่าการคำนวณต้นทุนการผลิต เพื่อให้การขอให้ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเป็นไปโดยถูกต้อง ไม่ต้องเสียเวลาแก้ไขในภายหลัง สามารถปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ.