เปิดแผนรัฐเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เพิ่มมูลค่า ‘เศรษฐกิจไทย’ 4 ล้านล้าน

เปิดแผนรัฐเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’  เพิ่มมูลค่า ‘เศรษฐกิจไทย’ 4 ล้านล้าน

“รัฐบาล” ประกาศแผนซอฟต์พาวเวอร์ สร้างรายได้ปีละ 4 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี ออก พ.ร.บ.ตั้งสำนักงาน Thailand Creative Content Agency เปิดอบรม 20 ล้านคน พัฒนา 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สู่เวทีโลก  วธ.จับมือศศินทร์ ทำตัวชี้วัดสถิติทางวัฒนธรรม

รัฐบาลได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยเป็นภารกิจสำคัญที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน

สำหรับแผนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะ 100 วัน หรือภายใน 11 ม.ค.2567 เปิดให้ลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งแก้ไขกฎกระทรวง และจัดงาน Winter Festival

2.ระยะ 6 เดือน หรือภายใน 3 เม.ย.2567 จะเริ่มบ่มเพาะ OFOS(One Family One Soft Power) รวมทั้งเสนอ พ.ร.บ.จัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีการจัดเทศกาล Water Festival และจัดงาน Soft Power Forum

3.ระยะ 1 ปี หรือภายใน 3 ต.ค.2567 กำหนดเป้าหมายบ่มเพาะได้ 1 ล้านคน รวมทั้ง พ.ร.บ.จัดตั้ง THACCA ผ่านรัฐสภา มีการจัดงาน Film Festival และ Music Festival รวมถึงการสนับสนุน Soft Power ไปร่วมงานระดับโลก

นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.ต้นน้ำ เป็นการฝึกอบรมคน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

2.กลางน้ำ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 อุตสาหกรรม เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เป็นต้น

3.ปลายน้ำ เป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยออกไปสู่เวทีโลก ในพื้นที่ที่สอดคล้องแล้วมีการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทยที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ผ่านการทำงานของทูต และทูตพาณิชย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ

อัพสกิล-รีสกิล 20 ล้านคนไทย

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่ผ่านมาได้แนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนต้นน้ำที่จะอบรม 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว จะเป็นการรีสกิลและอัพสกิลครั้งใหญ่ของประเทศ โดยจะมีทำระบบการลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ไปพัฒนาระบบขึ้นมาใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งแต่ละครอบครัวจะส่งใครก็ได้ไม่จำกัดอายุเข้ามาเพิ่มทักษะ

ส่วนการอบรมจะพัฒนาศูนย์บ่มเพาะทักษะซอฟต์พาวเวอร์ให้ประชาชน โดยประสานกระทรวงศึกษา รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตั้งศูนย์บ่มเพาะทั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษา สถานบันอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยการบ่มเพาะแบ่งเป็นระดับขั้นหรือระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง รวมทั้งดูในกลุ่มที่มีพรสวรรค์ (Talent) ให้พัฒนาทักษะเพิ่มต่อเนื่อง

จัดงานต่อเนื่องสร้างความคึกคัก

นอกจากนี้ในการผลักดันช่วงกลางน้ำ ซึ่งจะผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการจัด “เฟสติวัล” ที่จะมีเทศกาลที่เป็นงานใหญ่ก่อนสิ้นปี 2566 เริ่มตั้งแต่วันลอยกระทงจนถึงเทศกาลเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ซึ่งส่วนนี้จะมีผู้ดูแล คือ นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรุงเทพมหานคร

สำหรับการจัดเทศกาลดังกล่าวจะดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่เทศกาล Winter Festival ไปถึงการจัดเทศกาล Water Festival รวมทั้งจะต่อยอดไปสู่การจากงานที่สนับสนุนแต่ละอุตสาหกรรม เช่น Film Festival และ Music Festival

รวมทั้งการผลักดัน พ.ร.บ.ตั้งสำนักงานThailand Creative Content Agency วางกรอบเวลาดำเนินการเสร็จภายในปี 2567 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น แต่จะทำให้การทำงานด้านซอฟต์พาวเวอร์มียุทธศาสตร์มากขึ้น 

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวได้แนวคิดมาจาก The Korea Creative Content Agency (KOCCA) ที่เป็นหน่วยงานหลักดูแลซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมดูแลโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์และรักษาประเพณี ในขณะที่ KOCCA ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าทางเพิ่มเศรษฐกิจ KOCCA

วธ.ดึงความภูมิใจเป็นพลังทางเศรษฐกิจ

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)กล่าวว่าการขับเคลื่อน Soft power ความเป็นไทย วธ.จะเร่งดำเนินการผลักดันทุกสาขาให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรม โดยเน้นสร้างการรับรู้สู่คนทั่วโลก สร้างความภาคภูมิใจให้คนในประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการใน 10 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ 1.กลุ่มภาพยนตร์ ซีรี่ย์ โฆษณา แอนิเมชัน และเทศกาลภาพยนตร์ 2.กลุ่มงานออกแบบแฟชั่น 

และงานคราฟ  โดยมีการจัดจำหน่าย ได้เงินกลับมา 300-400 ล้านบาท จากการจัดงานเพียง 3 วัน  3. กลุ่ม อาหาร เครื่องดื่มและร้านอาหาร4.กลุ่มกีฬา ที่ผ่านมามุ่งเน้นเรื่องมวยไทยในเรื่องของการอนุรักษ์

5.กลุ่มดนตรี เพลงและจัดคอนเสิร์ต 6.กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม การทำท่องเที่ยวชุมชน เราจะต่อยอดให้รักษาอย่างยั่งยืน 7.กลุ่มหนังสือ มีการสนับสนุนมากขึ้น 8.กลุ่มศิลปะร่วมสมัย ละครเวที และแกลอรี่

9.กลุ่มสุขภาพ สปาและนวัตกรรม เป็นการดำเนินการภายใต้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และการทำเรื่ององค์ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของนวดไทย 10.กลุ่มซอฟต์แวร์ และเกม จะมีการเก็บตัวเลขที่ทำร่วมกับภาคเอกชน และสนับสนุนให้เกิดการสร้างสื่อใหม่ๆ จะมีแผนในการขับเคลื่อนอย่างไร

จัดทำตัวชี้วัดสถิติทางวัฒนธรรม

นางยุพา กล่าวต่อว่า นโยบายสำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเริ่มตั้งแต่การส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power ผลักดันให้โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก เกิดBangkok เมืองแฟชั่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมรักการอ่าน มวยไทยสู่สากลในทุกมิติ รวมถึงให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ พร้อมทั้ง สนับสนุนการนำวัฒนธรรมไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกม ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น แอนิเมชั่นฯลฯ และเปิดพื้นที่แห่งเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะและดนตรี เพื่อกระตุ้นให้ทุกอาชีพมีความเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

จัดทำฐานข้อมูล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นางยุพา กล่าวต่อว่าขณะนี้ วธ.ได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำเรื่องเกี่ยวกับตัวชี้วัดสถิติทางวัฒนธรรม ซึ่งต่อจากนี้ วธ.ต้องเป็นหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมและดำเนินการทางสถิติ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆนำข้อมูลไปใช้ ในการเคลื่อน Soft Power และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 

หัวหน้าบอร์ดพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์

ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินัดแรก ได้เห็นชอบแนวทางการการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) และจะจัดประชุมชุดนี้ทุกเดือน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ สาขาการท่องเที่ยว นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี,

สาขาอาหาร นายชุมพล แจ้งไพร ,สาขาศิลปะ นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ซึ่งมีเสนอให้มีการจัดทำแพลตฟอร์ม Thailand Art Move ผลักดันหอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่ มีกองทุนช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เกิดงานแสดงศิลปะนานาชาติ ,สาขาออกแบบ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค เสนอให้มีการค้นหาและสนับสนุนอัจฉริยะท้องถิ่น 100 คน,สาขากีฬา นายพิมล ศรีวิกรม์ ได้เสนอให้มีการรวมรวบองค์ความรู้เกี่ยวกับมวยไทย

สาขาดนตรี นายพิเชียร ฤกษ์ไพศาล ได้เสนอผลักดันให้มีเกิด Talent ด้านดนตรีในทุก ๆ ที่,สาขาหนังสือ นายจรัญ หอมเทียนทอง เสนอให้มีการพัฒนาห้องสมุดรูปแบบใหม่ทั่วประเทศ,สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ผู้แทน ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล เสนอให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์,สาขาแฟชั่น นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี เสนอปรับโครงสร้างองค์กรส่งเสริมแฟชั่น,สาขาเกม นายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ เสนอให้ทบทวน พ.ร.บ.เกมและภาพยนตร์