หวั่นสงครามฉุด ‘กองทุนน้ำมัน’ ติดลบแสนล้าน

"พรายพล" ห่วงสงครามในอิสราเอลยืดเยื้อ ดันต้นทุนราคาพลังงาน หวั่นกองทุนน้ำมัน ติดลบแสนล้านอีกครั้งช่วงสิ้นปี คาดรัฐบาล คงนโยบายคุมราคาพลังงาน แม้ราคาพุ่ง

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทิศทางราคา และสถานการณ์ราคาพลังงานในกรณีอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงสหรัฐมาร่วมวงความขัดแย้งสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สถานการณ์จะยืดเยื้อแน่นอน


ทั้งนี้ อิสราเอลคงพยายามกวาดล้างกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจใช้เวลาในการส่งทหารเข้าฉนวนกาซา แต่การจะขยายกรอบวงกว้างหรือไม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งตอนนี้เปิดศึกทางเหนือแล้ว และไม่รู้จะมีอะไรเพิ่มจากนี้อีกหรือไม่


“คนจะเข้าร่วมมีตั้งแต่อิหร่านไปถึงสหรัฐ มีประเด็นคือ จะหนุนหลังถึงขนาดขยายวงกว้างหรือเปล่า ถ้าขยายวงกว้างจะกระทบซัพพลายเชนพลังงานแน่นอน เพราะอียิปต์ อินเดียหรืออิรัก ประเทศใกล้เคียง มีทั้งผู้ผลิต และเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน รวมถึงแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยเชื่อมระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ แม้จะไม่ใช่แหล่งใหญ่แต่จะได้รับผลกระทบด้วย”


นายพรายพล กล่าวว่า หากราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นจะกังวลสถานะการเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่มีโอกาสติดลบถึง 1.3 แสนล้านบาท เหมือนช่วงที่ต้องอุดหนุนราคาดีเซล และก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนช่วงโควิด ซึ่งปัจจุบันติดลบ 6.8 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยใช้เงินกองทุนวันละ 400 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าหนักพอสมควร


นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกจะพุ่งไม่มาก แต่สถานะกองทุนฯ แย่ลง และหากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้นอีกระดับกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลติดต่อกัน ภายในสิ้นปี 2566 จะทำให้กองทุนฯ ติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทได้ จึงต้องจับตาว่าสงครามครั้งนี้จะขยายวงหรือไม่ ส่วนการขาดแคลนพลังงานในไทยถือว่าไม่มีปัญหา


“จากนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเห็นว่ามีความตั้งหน้าตั้งตาที่จะลดราคาน้ำมัน และราคาพลังงานอยู่แล้ว ไม่ว่าราคาตลาดโลกจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งสำคัญในทุกกรณี ประชาชนคนไทยหากสามารถประหยัดได้ควรช่วยกันประหยัดพลังงาน ไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาคอยช่วยเหลือ ถ้าประหยัดได้จะช่วยทั้งตัวเอง และช่วยลดการบริโภคพลังงานที่มาจากการนำเข้าได้อีกช่องทาง”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์