สงครามอิสราเอลดัน 'น้ำมันดิบ' พุ่ง 5%!

สนพ. เผยราคาน้ำมันดิบเดือนก.ย. ปรับเพิ่มขึ้น สูงสุดในรอบ 9 เดือนของปี 66 เหตุจากการลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย จนถึงสิ้นปีนี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนกันยายน 2566 พบว่า สถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเดือนกันยายน 2566 มีราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนของปี 2566 จากความกังวลต่ออุปทานตึงตัวหลังซาอุดีอาระเบียขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปถึงสิ้นปี 2566 ขณะที่รัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้เช่นกัน รวมทั้งราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางความกังวลต่ออุปทานจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจจีนในเดือนสิงหาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้นหลังรัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากปีก่อนหน้า อีกทั้งปริมาณการกลั่นของโรงกลั่นในจีนปีนี้ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ 15.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า หลังความต้องการใช้ในประเทศ และการส่งออกเพิ่มขึ้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ รายงานประจำเดือนกันยายน 2566 กลุ่ม OPEC ได้เปิดเผยการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกว่า จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2.25 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ในปี 2567 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเติบโตขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบจากความต้องการใช้น้ำมัน และเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง หลังพายุไต้ฝุ่น Haikui ได้เข้าถล่มฮ่องกง และเซินเจิ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง อีกทั้ง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับผู้นำเข้าที่ถือสกุลเงินอื่น รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในอาเซียน ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่น่าจับตามอง โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลอย่างมากในไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบปรับลดลงจากการขยายมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปกที่คาดว่า ตลาดจะขาดดุลมากสุดในรอบ 5 ปี สำหรับในปี 2567 IEA คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเติบโตที่ราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปทานจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะเกินดุลอีกครั้ง

“สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และดีเซลของประเทศไทย และต่างประเทศ ณ วันที่ 25 กันยายน 2566 พบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ประเทศสิงคโปร์มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 78.82 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 39.95 บาทต่อลิตร ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น ประเทศสิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 73.02 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น” ผอ.สนพ. กล่าว

นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงตลาดซื้อขายของเอเชีย โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.18 ดอลลาร์ หรือ 4.94% ที่ระดับ 88.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.23 ดอลลาร์ หรือ 5.11% ที่ระดับ 87.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ราคา ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566) ทั้งนี้ น้ำมันดิบราคาพลิกฟื้นกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน หลังถูกเทขายมานานหลายสัปดาห์ จากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบความต้องการทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สนพ. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสามารถดำเนินการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์