‘สภาพัฒน์’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ดันสร้างซัพพลายเชน ลดนำเข้า

‘สภาพัฒน์’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ดันสร้างซัพพลายเชน ลดนำเข้า

"สภาพัฒน์"หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สร้างซัพพายเชนในประเทศ ลดการนำเข้า จับมือหน่วยงาน สถาบันวิจัย เดินหน้าแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ระยะที่ 2

เมื่อเร็วๆนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุม "การพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”  ร่วมกับศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ศอพท.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.) เจ้าหน้าที่กองบัญชีประชาชาติ (กบป.) และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานประสานนโยบายด้านความมั่นคง (กมค.)

โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และภาคเอกชนประกอบด้วยสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยเข้าร่วมการประชุม โดยมีนายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม

‘สภาพัฒน์’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ดันสร้างซัพพลายเชน ลดนำเข้า

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อ (ร่าง) การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเห็นชอบโครงการบูรณาการสถิติทางการเพื่อสนับสนุนแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)

โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำข้อมูลสถิติที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินผลการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระยะต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้ร่วมกันตามที่ ศอพท.นำเสนอ

นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการผลิตสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการผลิตและมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น

รวมทั้งที่ประชุมจะร่วมกันจัดทำข้อเสนอมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ชัดเจน เสนอผ่านทางคณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ภายใต้คณะกรรมการการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

การประชุมได้มีการรายงานสถานะการพัฒนา (ร่าง) ห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยแบ่งกิจกรรมหลักในห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศออกเป็น 6 ด้าน กล่าวคือ

  1. การศึกษาความต้องการและการวิจัยพัฒนา
  2.  การจัดหาและพัฒนาวัตถุดิบ
  3. การผลิตและทดสอบ
  4. การตลาดและการกระจายสินค้า
  5.  การบำรุงรักษา
  6.  การกำจัดซาก

ทั้งนี้ ในห่วงโซ่มูลค่าจะมีปัจจัยสนับสนุนในทุก ๆ กิจกรรมหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน กล่าวคือ

  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  • ด้านมาตรการและกฎระเบียบภาครัฐ
  • ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • ด้านการพัฒนาแรงงาน
  • และด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม เพื่อความสมบูรณ์ของการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงาน

เพื่อให้ห่วงโซ่มูลค่ามีข้อมูลที่เพียงพอ ถูกต้อง และใช้ในการกำหนดทิศทางและการวางแผนในส่วนต่างๆ รวมถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมภายในอุตสาหกรรม ตลอดจนกิจกรรมสนับสนุนของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างมีระบบต่อไปได้