ไทยสยายปีก“เอฟทีเอ”เติมแต้มต่อ ข้อตกลงการค้าถกแล้วนัดแรกกับ“อียู”

ไทยสยายปีก“เอฟทีเอ”เติมแต้มต่อ  ข้อตกลงการค้าถกแล้วนัดแรกกับ“อียู”

พาณิชย์ ถกนัดแรกเเอฟทีเอไทย-อียู วางแผนถกปีละ 3 ครั้ง เพื่อปิดดีลให้ได้ปี 68 ภาคเอกชนหนุนสุดตัว ทดแทนไทยถูกตัดจีเอสพีจากอียู ชี้เพิ่มแต้มต่อทางการค้า แข่งขันได้ คาด ดันส่งออกไทยเพิ่ม 5 %

โลกแห่งการค้าระหว่างประเทศมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และประเทศไทยก็มีสัดส่วนรายได้มาค้ำจุนเศรษฐกิจหรือ GDP จากการค้าระหว่างประเทศมากถึง 70% ของGDPประเทศ ดังนั้น ในเวทีการค้าไทยต้องแข่งขันได้ซึ่งแต้มต่ออย่างหนึ่งที่จะเป็นอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยไปแข่งขันได้ก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ

ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ ต่อเนื่องจากปี 2565 จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน,เอฟทีเอ ไทย-ตุรกี,เอฟทีเอไทย-ศรีลังกา,เอฟทีเออาเซียน-แคนาดา และ เอฟทีเอไทย-เอฟต้า (EFTA) และกำหนดเปิดการเจรจา จำนวน 1 ฉบับ คือ FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกรอบการเจรจาเอฟทีเอของฝ่ายไทยแล้ว โดยพิธีเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบแรก เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

โดยมีคณะผู้แทนไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ 

“ทั้งสองฝ่ายวางแผนจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ซึ่งตั้งเป้าสรุปผลเจรจาภายในปี 2568 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ในเดือนม.ค. 2567”

ไทยสยายปีก“เอฟทีเอ”เติมแต้มต่อ  ข้อตกลงการค้าถกแล้วนัดแรกกับ“อียู”

"วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา" รองประธานสภาหอการค้าไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การค้าการลงทุนระหว่างกันจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนจากอียู และไทยก็จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอียูด้วย โดยไทยเองจำเป็นต้องทำเอฟทีเอ เพราะไทยเคยได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ จีเอสพี แต่ปัจจุบันถูกตัดจีเอสพีทำให้การส่งออกไปอียูลดลงมากพอสมควร เนื่องจากอียูมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปสูง

“เรากำลังก้าวข้ามความช่วยเหลือในสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ดังนั้นผู้ส่งออกเองจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นไปตามกระแสการค้าโลก”

ส่วนเป้าหมายปิดการเจรจาภายใน 2 ปี นั้นมองว่า เป็นกรอบการเจรจาเบื้องต้นไม่ได้เต็ม 100 % ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเอฟทีเอ ที่ประเทศคู่เจรจาต้องต้องปรับตัวไปตามกรอบเจรจาแต่ละด้าน สินค้าใดที่ยังไม่สามารถทำตามกรอบเจรจาได้ก็จะมีการระยะเวลาการปรับตัวของผู้ประกอบการภายในประเทศเหมือนข้อตกลงการค้าอื่นๆ เช่น RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) , เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย เอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น

“เราส่งออกไปอียูมีสัดส่วน 12 % ของการส่งออกไทย แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 7-8 % หากทำเอฟทีเอไทย-อียูสำเร็จก็จะทำให้การส่งออกไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือใกล้เคียงกับตัวเลขเดิม อย่างน้อยก็รักษาตัวเลขเดิมได้"

อย่างไรก็ตาม การทำเอฟทีเอไทยจะต้องขยายการเปิดเจรจาไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากเอฟทีเอเดิม เพื่อขยายตลาดการส่งออกใหม่ๆของไทยเพิ่มขึ้น

"ชัยชาญ เจริญสุข" ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นดีที่ได้มีการเปิดเจรจาในรอบแรก และตั้งเป้าปิดดีลให้ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งอียูถือเป็นตลาดใหญ่มาก โดยไทยส่งออกไปอียูมีสัดส่วน 8 % เฉลี่ยมูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หากเอฟทีเอมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้การส่งออกไทยเพิ่มขึ้น 5 % อีกทั้งจะช่วยชดเชยจากการที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี  หากว่าไทยสามารถบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอไทย-อียูได้ก็จะเป็นแรงหนุนการส่งออกไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งในตลาดอียู โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างประเทศเวียดนามที่มีความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)ทำให้ได้เปรียบไทยในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดยุโรป

อย่างไรก็ตามในระหว่างการเจรจาคงต้องดูว่าจะมีเรื่องของประเด็นอ่อนไหวใดมาเพิ่มบ้าง เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงยา สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ดังนั้นคงต้องดูกันต่อไปแต่ในเบื้องต้นขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับไทยซึ่งภาคเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนการทำเอฟทีเอ

สนามแข่งขันการค้าระหว่างประเทศไม่เพียงกฎการแข่งขันที่ว่าด้วยขีดความสามารถเฉพาะตัวที่ต้องมีอยู่แล้ว การเติมแต้มต่อด้วยเอฟทีเอจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าพิชิตตลาดและกวาดรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น