สศก. ดึง 3 พันธมิตร จับความเร็วลม ทำประกันภัยทุเรียน

สศก. ดึง 3 พันธมิตร จับความเร็วลม ทำประกันภัยทุเรียน

สศก. ยกระดับประกันภัยภาคเกษตร จับมือ 3 พันธมิตร ดึงเซ็นเซอร์ ‘ความเร็วลม’ เตรียมนำร่องประกันภัยทุเรียน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ลดความเสี่ยง สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ได้ ร่วมลงนามใน บันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA  ว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร 

MOU ฉบับนี้ นับเป็นการยกระดับระบบประกันภัยภาคเกษตรไปอีกขั้น เนื่องจากความรุนแรงของผลกระทบที่เกษตรกรไทยได้รับจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบประกันภัยภาคเกษตร 

สศก. ดึง 3 พันธมิตร จับความเร็วลม ทำประกันภัยทุเรียน สศก. ดึง 3 พันธมิตร จับความเร็วลม ทำประกันภัยทุเรียน

 

 

เช่น อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System: GIS) และแบบจำลองการวิเคราะห์ความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติในเชิงพื้นที่ (Disaster Risk Analysis Model) เพื่อพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า (Advanced Warning System) เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร และตอบโจทย์ความท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่

การพัฒนาประกันภัยทุเรียนที่ใช้ความเร็วลมเป็นดัชนีภูมิอากาศ (Weather Index Insurance) เป็นโครงการนำร่องภายใต้ MOU ฉบับนี้ และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีการนำ “ความเร็วลม” มาใช้ในระบบประกันภัยภาคการเกษตร โดยในอดีตที่ผ่านมา มีการใช้ “ปริมาณน้ำฝน” เป็นดัชนีภูมิอากาศในกรมธรรม์ประกันภัยข้าว ลำไย อ้อย และมันสำปะหลัง แต่เพียงอย่างเดียว 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังไม่มีผลการศึกษาหรืองานวิจัยที่บ่งบอกถึงระดับความรุนแรงของลมที่ส่งผลต่อการหลุดร่วงของผลทุเรียนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว จึงมีความจำเป็นในการจัดทำสนามทดลอง (Sandbox) เพื่อติดตั้งเซนเซอร์วัดความเร็วของลม ทิศทางลม ความเข้มแสง และความชื้นในอากาศ รวมถึงการหาจุดติดตั้งที่เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่และร่องลม พร้อมทั้งพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อรองรับการคำนวณหาค่าความเร็วลมที่จะนำไปใช้เป็นค่าวิกฤต เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนารูปแบบของประกันภัยทุเรียนและกำหนดค่าเบี้ยประกันต่อไป 

สศก. ดึง 3 พันธมิตร จับความเร็วลม ทำประกันภัยทุเรียน สศก. ดึง 3 พันธมิตร จับความเร็วลม ทำประกันภัยทุเรียน

 

"การให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจากภัยอันเกิดจากลมพายุหรือวาตภัยที่มากับพายุฤดูร้อน ในช่วงระหว่างเดือนก.พ.-มิ.ย. ของทุกปี ที่เป็นช่วงออกผลคาบเกี่ยวกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้มากที่สุด  อีกทั้ง ยังเป็นภัยธรรมชาติที่ป้องกันและควบคุมความเสียหายได้ยาก"  

สำหรับทุเรียนประเทศไทยส่งออกตั้งแต่ เดือน ม.ค. ถึงปัจจุบันรวมมูลค่ากว่า 117,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และถือครองส่วนแบ่งตลาดโลกถึงกว่า 80% การประสานความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตรให้ครอบคลุมความเสี่ยงในมิติใหม่ ๆ ก้าวหน้าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แม่นยำจากการใช้วิทยาศาสตร์และการมีระบบสารสนเทศด้านการเกษตรที่สมบูรณ์ รองรับและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร อันจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมการให้ความคุ้มครองและดูแลเกษตรกรไทยร่วมกัน 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า สำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ได้สนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัย พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สำคัญและจำเป็น 

 อาทิ การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และได้ต่อยอดไปยังพืชผลชนิดอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรของประเทศ จึงร่วมกับธุรกิจประกันภัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ การประกันภัยสวนยางพารา และการประกันภัยโคนม โคเนื้อ เป็นต้น

 ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันภัยสวนทุเรียนที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายอย่างสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ และมีกรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ โดยให้ความคุ้มครองความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ นอกจากนั้น กรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษยังให้ความคุ้มครองความเสียหายบางส่วนของต้นทุเรียนอันเกิดจากภัยลมพายุ ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งทั้งสองกรมธรรม์ดังกล่าว ยังไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน

 ดังนั้น การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร โดยการนำประกันภัยทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศมาพัฒนาการสำรวจภัยของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร เป็นการนำร่องในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT และระบบภูมิสารสนเทศ GIS เทคโนโลยีที่สามารถวัดความเร็วลม โดยจะมีการนำ “ความเร็วลม” มาประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ เนคเทค สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยพัฒนาที่มีภารกิจสำคัญในการทำหน้าที่เชิงออกแบบและวิศวกรรม เสมือนเป็น “เครื่องจักรสำคัญเพื่อสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับประเทศ” จะนำผลงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยุคใหม่ที่มีชื่อว่า “WiMaRC: ไวมาก” ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ ทํางานภายใต้ Platform IoT และแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน ใช้ในการติดตามสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกแบบทันที เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านโทรศัพท์มือถือ 

โดยในระยะแรกจะเริ่มจากความเร็วลม ทิศทางลม ความเข้มแสง ความชื้นอากาศ เป็นหลัก และในระยะถัดไป จะเพิ่มเติมการใช้เซนเซอร์ความชื้นดินร่วมกับการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที โดยข้อมูลที่ได้จากระบบไวมากจะทำงานแปลผลร่วมกับข้อมูลของ GISTDA และสำนักงาน คปภ. ซึ่งจะนำผลลัพธ์ที่ได้ไปจัดทำเป็นเครื่องมือในการให้บริการรับประกันภัยผลผลิตทางด้านการเกษตร ให้แก่เกษตรกรได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา GISTDA มุ่งมั่นในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อวางแผนและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ทั้งในสถานการณ์ปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ ที่เป็นวาระสำคัญของประเทศ เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่าหมอกควัน โดยเฉพาะการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากดาวเทียม ร่วมกับเทคโนโลยีสำรวจระยะไกลอื่น ๆ เช่น สถานีตรวจวัดอากาศทางการเกษตร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศที่มีผลต่อการเพาะปลูกพืช เพื่อให้เกษตรกรไทยนำข้อมูลที่ทันสมัย และเป็นปัจจุบันไปใช้วางแผนการเพาะปลูกตามฤดูกาล และป้องกันผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ GISTDA ยังให้บริการข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคการศึกษา และประชนชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป