ย้อนไทม์ไลน์ประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ก่อนบทสรุปเดินหน้าหรือล้มประมูล ?

ย้อนไทม์ไลน์ประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ก่อนบทสรุปเดินหน้าหรือล้มประมูล ?

“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ลุ้นศาลปกครองสูงสุดเคาะเดินหน้าหรือล้มประมูล ขณะที่ “สุริยะ” ยันโครงการต้องได้ข้อสรุป เตรียมผลักดันต่อตามแนวทางยุติธรรม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี ปัจจุบันแม้ว่างานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี จะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากสัญญาจ้างเดินรถถูกควบรวมอยู่กับงานโยธาชช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ในกรณีที่เอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขประกวดราคา

โดยปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีคดีที่อยู่ในกระบวนการพิจารณา คือ กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563  

สำหรับสถานะของข้อพิพาทนี้ได้รับการพิพากษาจากศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 โดยพิพากษายกฟ้อง ซึ่งชี้ว่าคณะกรรมการคัดเลือก ม.36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ได้กระทำผิดในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนที่จะมีการส่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง และไม่ได้มีเหตุต่อการกีดกันเอกชนเข้าร่วม แต่ข้อพิพาทนี้ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์และรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มปัจจุบันทราบว่ายังมีอีก 1 ข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง อย่างไรก็ดีคงต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สิ้นสุดก่อน ส่วนเบื้องต้นแนวทางที่จะเป็นไปได้ทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คือ

1. เดินหน้าขั้นตอนประกวดราคาที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ

2. ยกเลิกการประกวดราคาเดิมและเปิดประกวดราคาใหม่

ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นไปได้ทั้งหมด คงต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดออกมาก่อน

ทั้งนี้ มหากาพย์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม พบว่าขณะนี้เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ที่โครงการยังไม่คืบหน้าเริ่มงานก่อสร้าง นับจากวันที่ รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 ก่อนปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนกลางคัน พร้อมประกาศล้มประมูล เป็นเหตุให้เอกชนยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ และทำให้ขณะนี้แม้จะจบขั้นตอนประมูลได้ตัวเอกชนรับสิทธิบริหารโครงการแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้

ย้อนเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ นับตั้งแต่ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน มีดังนี้

3 ก.ค. 2563 รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรับและเอกชน (พีพีพี)

10 – 24 ก.ค. 2563 ได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย

27 ส.ค. 2563 นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกราย แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ จากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน

17 ก.ย. 2563 เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่

19 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราว

2 พ.ย. 2563 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น

9 พ.ย. 2563 รฟม.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซอง 2 ราย

3 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

11 ก.พ.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

22 ก.พ. 2564 เอกชนยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165

5 พ.ค. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคำฟ้อง

18 ส.ค.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน

1 ก.ย.2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง กรณีห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่

24 พ.ค. 2565 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2

27 พ.ค. – 10 มิ.ย.2565 รฟม.ขายซองเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

1 ก.ค.2565 ศาลปกครองกลาง นัดพิจารณาคดีเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ม.36 และประกาศของ รฟม.เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

7 ก.ค.2565 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 850/2564 หมายเลขแดงที่ 1455/2565 โดยพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ม.36 และประกาศของ รฟม.เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยชี้ว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

27 ก.ค.2565 รฟม.เปิดรับข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

2 ส.ค. 2565 รฟม.เริ่มเปิดซองข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

8 ส.ค. 2565 ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่เอกชนร้องขอ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

15 ก.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เกี่ยวกับมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน

16 ก.ย.2565 รฟม.ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด

27 ก.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยศาลชั้นต้นได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว

11 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีที่เอกชนยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า ประกาศเชิญชวน มีความชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดี จึงไม่ต้องมีการให้สินไหมทดแทน พร้อมมีความเห็นว่าศาลควรพิจารณายกฟ้อง

25 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนในการประมูลครั้งที่ 2 โดยพิจารณายกฟ้อง เนื่องจากการประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวไม่มีลักษณะประการใด ที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย