ผ่า "นโยบายเพื่อไทย 1.8 ล้านล้าน" เร่งผุดกระเป๋าเงินดิจิทัลใน 6 เดือน

ผ่า "นโยบายเพื่อไทย 1.8 ล้านล้าน" เร่งผุดกระเป๋าเงินดิจิทัลใน 6 เดือน

“เพื่อไทย” ดันนโนบายหาเสียง 1.8 ล้านล้านบาท หนุนเงินดิจิทัล จัดสวัสดิการผู้สูงวัย บริหารจัดการน้ำ “ทีดีอาร์ไอ” ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจควรใช้แค่ 1-2 แสนล้าน แนะลดใช้งบแทนการกู้ “ณรงค์ชัย” หนุนเงินดิจิทัล ดันไทยเข้ายุค Web3.0 ให้ทยอย ห่วงรัฐบาลวุ่นเหตุแบ่งงบประมาณไม่ลงตัว 

Key points 

  • พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลประกาศเดินหน้านโยบายกระตุ้น และฟื้นเศรษฐกิจหลายด้าน มี 25 นโยบาย วงเงินกว่า 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มนโยบาย
  • นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท วงเงิน 5.6 แสนล้าน เป็นนโยบายที่ประกาศเดินหน้าทันทีที่เป็นรัฐบาลและจะทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือน 
  • ทีดีอาร์ไอมองการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นแต่ควรลดขนาดวงเงินลงเหลือ 1 - 2 แสนล้านบาทเท่านั้น
  • อดีต กนง.มองนโยบายเงินดิจิทัลส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว แต่ควรทยอยทำและเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปีแรก 
  • แนะรัฐบาลใหม่ต้องกล้าขยับการเก็บภาษีเพิ่มทั้งขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีความมั่งคั่งเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐมาใช้ในสวัสดิการ 

การประชุมรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 22 ส.ค.2566 โดย พรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และถ้าการลงคะแนนเรียบร้อยจะเป็นเข้าสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาก่อนปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 5% และในระยะเร่งด่วนจะผลักดันนโยบายเพื่อประชาชนระดับฐานราก เช่น การลดค่าใช้จ่ายพลังงาน

ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้สรุปนโยบายที่หาเสียงเพื่อรายงานต่อ คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) โดยมีนโยบาย 25 ข้อ ที่กำหนดวงเงินงบประมาณและที่มาของงบประมาณรวม 1.81 ล้านล้านบาท แบ่งได้ 5 กลุ่ม ดังนี้ 

1. การเพิ่มรายได้ประชาชน โดยจะผลักดันนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท 

2. การแก้ปัญหาหนี้สิน เช่น จะผลักดันนโยบายลดภาระหนี้ประชาชน 13,000 ล้านบาท

3. การดูแลผู้สูงอายุ เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ 300,000 ล้านบาท

 4. การศึกษา เช่น  One Tablet per Child with free internet และเพิ่มประสิทธิภาพการสอน 31,800 ล้านบาท 

5. คมนาคม  เช่น นโยบายรถไฟฟ้า กทม.20 บาท ตลอดสาย 40,000 ล้านบาท

6. สาธารณสุข เช่น ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค 20,000 ล้านบาท 7.การเมือง เช่น ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3,000 ล้านบาท และ 8.การบริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง ชนบทมีน้ำกินน้ำใช้ด้วยระบบบาดาล 500,000 ล้านบาท

ผ่า \"นโยบายเพื่อไทย 1.8 ล้านล้าน\" เร่งผุดกระเป๋าเงินดิจิทัลใน 6 เดือน

  • “เพื่อไทย”ดัน3นโยบายเร่งด่วน

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทยจะมีนโยบาย 3 เร่ง คือ 1.นโยบายเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาในทุกวันนี้ 2.นโยบายเร่งแก้หนี้ให้ประชาชน เช่น การพักหนี้เกษตรกร การแก้ปัญหาหนี้ SME 3.นโยบายเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน

ส่วนนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เชื่อว่าขั้นต่ำจะทำได้ใน 6 เดือน เพราะต้องจัดทำระบบบล็อกเชนให้กำหนดเงื่อนไขการใช้และพื้นที่การใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องหารือกับส่วนราชการ โดยหาวิธีกระจายงบประมาณส่วนหนึ่งจากงบที่มีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาท มาจัดสรรมาเพื่อรองรับนโยบายเงินดิจิทัลให้พอจ่ายและเป็นหลักประกันการใช้จ่าย

 

ผ่า \"นโยบายเพื่อไทย 1.8 ล้านล้าน\" เร่งผุดกระเป๋าเงินดิจิทัลใน 6 เดือน

“ทีดีอาร์ไอ”หนุนกระตุ้นศก.1-2แสนล้าน

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยมีแนวนโยบายที่น่าสนใจ 3 นโยบาย ได้แก่ 

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะเศรษฐกิจปี 2566 ฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่ควร โดยคาดว่าจะเติบโต 3.0-3.5% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรจะเติบโตปีละ 3.7-3.8% โดยต้องการให้รัฐบาลใหม่คำนึงถึงความเหมาะสม ประกอบด้วย 

ขนาดเม็ดเงินอัดฉีดที่คาดว่าจะสูงถึงกว่า 500,000 ล้าน ซึ่งอาจอัดฉีดสูงเมื่อเทียบช่องว่างที่ต้องการกระตุ้นที่อาจต้องการเพียง 100,000-200,000 ล้านบาท ที่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ช้า โดยการหาแหล่งเงินจากการกู้จำนวนมากอาจไม่เหมาะสมเท่าการลดงบประมาณในส่วนที่ลดได้

รวมทั้งการกระตุ้นควรให้น้ำหนักกลุ่มเปราะบางด้านรายได้ เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้มีหนี้สูง และควรใช้จ่ายกับกลุ่ม SME และธุรกิจรายย่อย ส่วนด้านเทคนิคการใช้ระบบการเงินดิจิทัลควรใช้ระบบพร้อมเพย์ เพื่อต่อยอดการพัฒนามากกว่าการสร้างระบบใหม่

2. นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถือเป็นนโยบายที่ดีเพราะค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันไล่ตามผลิตภาพแรงงานที่รวมเงินเฟ้อไม่ทัน สะท้อนว่าแรงงานได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่การขึ้นต้องคำนึงความสามารถในการแข่งขันและผลกระทบ โดยต้องหารือมาตรการเยียวยาธุรกิจด้วย

3. นโยบายการแก้ภาระหนี้สินให้ประชาชน เป็นสิ่งที่ดีและตรงปัญหาหลักของประเทศ แต่ไม่ง่ายเพราะการใช้เงินภาครัฐมาช่วยจะขัดหลักการมีหนี้ต้องจ่ายหนี้

“การช่วยเศรษฐกิจได้ขนาดไหน ผมชอบนโยบายแก้หนี้สินและการปรับค่าแรง รวมทั้งเพิ่มทักษะให้แรงงานเพราะเป็นเรื่องระยะยาวส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าไม่มากไปก็พอรับได้ แต่จะเป็นนโยบายที่ให้ผลแค่ระยะสั้น”

 

 

“ณรงค์ชัย”แนะทยอยทำเงินดิจิทัล

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในรายงาน “Deep Talk” ของ"กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงมาก แต่เมื่อเป็นรัฐบาลจะมีข้อจำกัดในการปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลผสมหลายพรรคและมีพรรคที่สำคัญอย่างน้อย 4 พรรค เมื่อพิจารณาจากจำนวน สส. คือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งทุกพรรคจะมีส่วนกำหนดนโยบาย

สำหรับพรรคเพื่อไทยเน้นนโยบายเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยมีเป้าหมายทำให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 5%ส่วน นโนบายกระเป๋าเงินดิจิทัล เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมให้ไปต่อ เพราะมีผลต่อการใช้เทคโนโลยีที่ผู้ได้รับเงินต้องเรียนรู้ระบบ และต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม เช่น สัญญาณอินเตอร์เน็ต บล็อกเชนที่เป็นสาธารณะ

ส่วนที่มาของงบประมาณควรกู้เงินหรือไม่นั้น เห็นว่างบประมาณวางเป็นขั้นตอนได้ โดยปีแรกตั้งงบประมาณมาทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บล็อกเชน โครงข่ายอินเตอร์เน็ตทุกหมู่บ้าน และปีต่อไปที่จะจ่ายเงินให้เสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อดีเบตว่าควรจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนข้อมูลว่ามีความจำเป็นแค่ไหน

ห่วงรัฐบาลแย่งงบจนวุ่นวาย

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลค่อนข้างลำบาก เพราะพรรคร่วมจะแย่งงบประมาณไปดูแลงานของตัวเองเป็นหลัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถคุมรัฐมนตรีได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีภาพการแย่งงบประมาณมากกว่าช่วยกันทำงาน ซึ่งอาจเห็นรัฐบาลที่วุ่นวายที่สุดในประวัติศาสตร์

ผ่า \"นโยบายเพื่อไทย 1.8 ล้านล้าน\" เร่งผุดกระเป๋าเงินดิจิทัลใน 6 เดือน

“จากประสบการณ์ทางการเมืองเวลาเป็นรัฐบาล จะมองตัวเองเป็นหลักมาเป็นที่หนึ่ง พวกตัวเองเป็นอันดับสอง พรรคเป็นอันดับสาม ประชาชนเป็นอันดับท้ายๆ ทำให้ความร่วมมือยังกันระหว่างพรรคจะลำบาก ซึ่งตอนนี้การแย่งกระทรวงก็มีทั้งระหว่างพรรค และในพรรคเดียวกัน ”

ไทยเก็บภาษีได้น้อยมากเมื่อเทียบกับรายจ่ายประเทศ ซึ่งหากเก็บภาษีได้น้อยขนาดนี้ทำสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้แต่หากมาตกลงกันใหม่ว่าต้องการสวัสดิการถ้วนหน้าอาจเขียนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องออกกฎหมายควบคู่ให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีเพิ่มได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% จากเดิม 7% หรืออาจจะเก็บภาษีจากฐานรายได้เพิ่มอีกส่วนหนึ่ง โดยถ้าจะขึ้นภาษีจะต้องทำตั้งแต่ปีแรกที่รัฐบาลเข้ามา

 

ด้านนายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ความเห็นถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัลจำนวน 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ว่า อาจเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง เนื่องจาก เม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่ แผนการคลังระยะปานกลางระบุถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากใน 3 ปีข้างหน้า โดยค่าใช้จ่ายต่อจีดีพีจะต้องลดลง และ ระดับหนี้สาธารณะจะต้องไม่เกิน60% ต่อจีดีพี

กังขาเงินดิจิทัลพอกหนี้พุ่ง

“วิธีการไฟแนนซ์เงินจะมาจากแหล่งใด หากปล่อยให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่จะกระทบคือเครดิตของประเทศ โดยบริษัทที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น ฟิทช์ เรตติ้ง หรือ เอสแอนด์ พี ก็ได้เคยออกมาระบุว่า ความเสี่ยงของประเทศไทย คือ เรื่องของการคลัง” 

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายดังกล่าว ถือเป็นการใช้เม็ดเงินงบประมาณเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากที่สุดที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งประเมินว่า จะสามารถกระตุ้นจีดีพีให้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3% หากพรรคเพื่อไทยนำมาใช้ในปีหน้า ก็จะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้ถึง 6-7% ภายใต้สมมติฐานจีดีพีในปี 2567 ขยายตัวได้ที่ประมาณ 3-4%

อย่างไรก็ตาม คำถามคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินจำนวนดังกล่าว จะเป็นการสร้างให้เศรษฐกิจมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยเฉพาะภายใต้การจัดทำงบประมาณที่ขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะของไทยก็เกินกว่า 60% ต่อจีดีพี ดังนั้น จึงมีคำถามว่า เป็นนโยบายที่ดีที่สุดหรือไม่