บีโอไอชี้ตั้งรัฐบาล 'ช้า' ไม่กระทบ FDI

การตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน​ต่างชาติ​ เนื่องจากนักลงทุนที่ย้ายฐานหรือขยายฐานการผลิต​จะเป็นกลุ่มนักลงทุนระยะยาว​ที่มีแผนสร้างโรงงานในไทย โดยจะให้ความสำคัญกับปัจจัยเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ระบุ การตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน​ต่างชาติ​ เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนที่ย้ายฐานหรือขยายฐานการผลิต​จะเป็นกลุ่มนักลงทุนระยะยาว​ที่มีแผนสร้างโรงงานในไทย โดยจะให้ความสำคัญกับปัจจัยเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ​ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไม่ได้กระทบต่อนโยบายการลงทุนของบีโอไอและทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เอื้อกับนักลงทุนต้องเปลี่ยนแปลง​ จึงมั่นใจว่า​ในช่วง​ 2-3 ปีนี้จะเป็นปีทองที่จะเห็นคลื่นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไหลเข้ามาไทย

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรจะต้องโฟกัสเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ได้แก่ การพัฒนาทักษะแรงงานต้องทั้งสร้างเองและเปิดประตูให้กว้างเพื่อต้อนรับคนเก่งด้านการเจรจาการค้าเปิดตลาดไทยให้กว้างที่สุด การเตรียมพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มความง่ายในการลงทุน และเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีให้เดินหน้าต่อ รวมทั้งกระจายลงทุนไปทั่วประเทศ

สำหรับนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า​ 3.5 ยังอยู่ระหว่างรอเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่​ ยืนยันว่า​ บอร์ดอีวี​ ชุดเดิมได้อนุมัติหลักการไว้แล้วและเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อนโยบายนี้ ซึ่งขณะนี้มี​ค่ายรถอีวีรายใหญ่จาก​จีน 2 รายที่เตรียมจะตั้งฐานการผลิตรถอีวีในไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้​ และคาดว่ายอดขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6 แสนล้านบาท


สำหรับสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่าอยู่ที่ 304,041 ล้านบาท มีการขยายตัวถึง 51% โดยมีการลงทุนจากจีนครองอันดับหนึ่งต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รองลงมา คือ สิงคโปร์ ซึ่งมีทั้งบริษัทจีนและญี่ปุ่นที่มีเบสในสิงคโปร์ และอันดับ 3 คือ ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนสูงกว่าครึ่งปีที่แล้วมากกว่าเท่าตัว ซึ่งเป็นการขยายการลงทุนจากฐานลงทุนที่อยู่ในไทย

นอกจากนี้ ภาวะการลงทุนช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ไทยมีความโดดเด่นและได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของโควิด รวมทั้งปัจจัยความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 891 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย 3 เซ็กเตอร์หลักที่ขยายตัวโดดเด่น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

เอกชนชี้โอกาสทองไทยเตรียมรับทุนย้ายฐาน

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จรีพร จารุกรสกุล ระบุ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก สงคราม ความขัดแย้ง ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์การเคลื่อนย้ายฐานทุน ได้กลายเป็นโอกาสทองของไทย ตอนนี้เราเห็นการลงทุนที่เป็นคลื่นทะลักไหลเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งมีทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซียที่ได้รับอานิสงส์ เรียกได้ว่านักลงทุนแย่งกันซื้อที่ดินอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจากประสบการณ์ในธุรกิจ 10 กว่าปี ซึ่งโอกาสทองที่ว่านี้น่าจะเกิดขึ้นอีก 2-3 ปี โดยการลงทุนรอบใหม่ที่จะเข้ามานั้นไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมแล้ว แต่จะอยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คอนซูเมอร์หรือเกษตรและอาหาร และอีวี

ทั้งนี้ นักลงทุนระยะยาวที่เข้ามานั้นจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า​ปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งมองภาพรวมในขณะนี้ไทยมีศักยภาพมาก​ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก​ (EEC​) เป็นเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนก็คาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ล่าช้ามากจนเกินไป เพราะจะทำให้นักลงทุนเสียโอกาสด้านนโยบายที่จะเอื้อต่อการลงทุน


 'บิทคับ' ห่วงสุญญากาศการเมืองทำนักลงทุนมองข้ามไทย

ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ระบุ เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้นักลงทุนข้ามข้ามประเทศไทย เพราะนักลงทุนต้องการประเทศที่มีสเถียรภาพ ในระยะสั้นส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงิน ในธุรกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินไหลเข้าและออก อาจจะยังไม่เข้ามามาก

ส่วนการลงทุนในระยะยาวมีผลกระทบทำให้นักลงทุนชะลอลงทุน นักลงทุน  wait and see เพื่อรอความชัดเจนของเศรษฐกิจไทย หากประเทศไทยเกิดสุญญากาศนานเกินไป ทำให้นักลงทุนมองข้ามประเทศไทยไป และย้ายลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการที่ไร้คำตอบ มีสูญญากาศนานเกินไป หรือมีการเปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ ทำให้นักลงทุนไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้

ทั้งนี้ อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น คือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนในประเทศ ที่สูงถึง 90% ต่อ GDP และการเปลี่ยนแลง "โซเชียลคอนแทรก" ตามบริบทโลกที่มองเห็นความสำคัญของ สตรี เทคโนโลยี การศึกษา และระยะยาว คือ "ดิจิทัล กรีน รีโวลูชั่น" และยังคงโอบอุ้มรูปแบบเศรษฐกิจเดิม และหว่านเมล็ดพันธ์ใหม่ให้เติบโตเป็น "new s curve" ที่จะเป็นทิศทางของการชูโรงเศรษฐกิจสู่โลกในอนาคต