ธปท.ชี้ตั้งรัฐบาลช้ากระทบ ‘เบิกจ่าย’

การจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวโน้มล่าช้า ถือว่าเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย ทั้งเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาล ที่มีความไม่แน่นอนสูงและหากยิ่งทอดออกไปไกลมากขึ้น

เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปิติ ดิษยทัต ระบุ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวโน้มล่าช้า ถือว่าเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย ทั้งเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาล ที่มีความไม่แน่นอนสูงและหากยิ่งทอดออกไปไกลมากขึ้น จะยิ่งไม่ดีต่อการลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจ เพราะทุกภาคส่วนหวังว่ากระบวนการนี้จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะหากล่าช้า จะกระทบโดยตรงต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ​ที่คาดว่า จะล่าช้ากว่าเดิมไปถึง 2 ไตรมาส จากเดิมคาดว่าจะล่าช้าเพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น และกระทบต่อโครงการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะชะลอออกไป แม้สัดส่วนต่อจีดีพีไม่มาก แต่อาจกระทบต่อการลงทุนเอกชน และการลงทุนโดยตรง FDI ที่มาจากต่างประเทศไทยได้ ที่จะเป็นตัวแปรที่กระทบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเหล่านี้ต้องติดตามความชัดเจนต่อเนื่อง

ส่งสัญญาณใกล้จบรอบขึ้นดอกเบี้ย

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วานนี้ (2ส.ค.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีนับจากเดือน มี.ค.2557 หลังจากเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินจึงควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมศักยภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากดอกเบี้ยที่อยู่ต่ำเป็นเวลานาน รวมถึง การรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ระดับสูง

ทั้งนี้ มองว่ายังมี 3 ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือเศรษฐกิจโลก ที่มีความผันผวนมากขึ้น แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะดีกว่าคาดไว้ แต่เศรษฐกิจจีน และอียูปรับตัวลดลงพอสมควร สะท้อนความไม่แน่นอนที่ยังมีต่อเนื่อง ถัดมา คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายภาครัฐที่จะออกมารูปแบบไหน ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น และสุดท้ายคือ แอลนีโญ ที่รุนแรงกว่าคาดไว้ โดยกนง.มองว่าสถานการณ์อาจถอดยาวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ต้องติดตามใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 จนถึงปัจจุบันทาง กนง. มองว่า ดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้จุดที่เป็น Neutral rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นปกติ เป็นกลางต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงก็เริ่มกลับมาเป็นบวก

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ถือว่าเข้าใกล้ที่จะเป็นบวกแล้ว และในบางจุดเริ่มเป็นบวกแล้ว แต่การที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มเป็นบวก เป็นแค่หนึ่งปัจจัยในการพิจารณา ที่เริ่มเข้าใกล้ Neutral zone แต่ไม่ได้หมายความว่า แค่นี้แล้วจะจบต้องให้แน่ใจว่า ภาวะการเงินสอดคล้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว ดังนั้นจำเป็นต้องดูข้อมูลต่อไป เพราะมีบางตัวที่มีขึ้นมีลงซึ่งเป็นปกติในการดำเนินนโยบาย ที่เข้าใกล้จุดเปลี่ยน ที่ต้องคำนึงถึงข้อมูลมากขึ้น

ส่วนผลกระทบต่อครัวเรือน และภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ กนง. ติดตามมาต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเฉพาะจุด ดังนั้น การที่ธปท.ออกมาตรการมาดูแลหนี้ครัวเรือน ก็เพื่อดูแล ปัญหาเฉพาะจุดมากขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ภาพรวมถือว่าชะลอลงคาดเล็กน้อย จากส่งออกที่ชะลอตัวลง แต่หากมองไปข้างหน้า ภาคการท่องเที่ยว อาจเข้ามามากกว่าคาด แต่เม็ดเงินการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ได้มาก ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอ ส่วนภาพเงินเฟ้อ ในเดือน มิ.ย.​และก.ค. คาดว่าจะออกมาต่ำต่อเนื่อง เพราะมีเรื่องของฐานสูง