ทำไม ‘ไทย-อาเซียน’ เนื้อหอมในสายตา ‘จีน VS สหรัฐ’

ทำไม ‘ไทย-อาเซียน’ เนื้อหอมในสายตา ‘จีน VS สหรัฐ’

ได้ประโยชน์ทั้งคู่แล้วต้องเลือกใคร!? เมื่อ “อาเซียน” ตกที่นั่งลำบากท่ามกลางขั้วอำนาจ “จีน-สหรัฐ” ด้านประเทศแผ่นดินใหญ่เล็งทำ “FTA” เพิ่ม หวังผูกสัมพันธ์-ได้ประโยชน์การค้า “เวียดนาม” ขอไม่โน้มเอียง กังวลตกหลุมพรางภูมิรัฐศาสตร์ เหตุ ยังพึ่ง “สหรัฐ” หลายเรื่อง

Key Points:

  • “จีน” และ “อาเซียน” มีเขตแดนติดต่อใกล้ชิดกัน รวมถึงวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ผสมกลมกลืนกันมาหลายชั่วอายุคน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกลุ่มอาเซียนแน่นแฟ้นโดยมีผลประโยชน์ทางการค้าเป็นจุดเชื่อมสำคัญ
  • เมื่อเกิดกรณีพิพาท “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐ ทำให้จีนต้องเร่งมือผูกสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียนมากขึ้น หลังสหรัฐตั้งกำแพงภาษีหวังสกัดการขาดดุลการค้าจีน
  • “อาเซียน” ตกอยู่ในที่นั่งลำบากไม่น้อย เพราะเป็นกลุ่มประเทศตรงกลางที่มีสัมพันธ์กับจีนมายาวนาน แต่เมื่อ “สหรัฐ” กลับมาผูกปิ่นโตอีกครั้งก็ทำให้เกิดอาการ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เกรงว่าจะตกอยู่ใน “Geopolitical Trap” หรือกับดักทางภูมิรัฐศาสตร์

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง “จีน-อาเซียน” ดูจะสนิทแนบแน่น เป็นมิตรทางการค้าที่ดีเยี่ยม ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกัน รวมถึงมีการเอื้อประโยชน์ทางการค้าซึ่งกันและกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะไปได้สวย ไม่มีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด

ทว่า “อาเซียน” ไม่ได้ “เนื้อหอม” ถูกตาต้องใจเฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่ “สหรัฐ” ยังเป็นประเทศที่ผูกสัมพันธ์กับประเทศแถบอาเซียนไว้มากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศคู่รัก-คู่แค้นของจีนแห่งนี้ยังคงอยู่ในสถานะ “Provider” เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการในธุรกิจขนาดใหญ่ที่หลายประเทศยังต้องพึ่งพิง

ยิ่งมีกรณีพิพาทสงครามการค้าระหว่าง “จีน-สหรัฐ” ด้วยแล้ว ประเทศในอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งเป้าทะยานสู่การเป็นฮับของเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้อาเซียน “เนื้อหอม” เย้ายวนให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งแห่เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก

อาเซียนจึงถูกจับตามองในฐานะ “ชิ้นปลามัน” ท่ามกลางความร้อนระอุของทั้งสองประเทศมหาอำนาจ จะรักพี่ก็เกิดเสียดายน้อง จะเลือกอีกคนก็กลัวเสียผลประโยชน์กับอีกฝ่ายโดยไม่จำเป็น บทความนี้จะพาไปสำรวจสถานการณ์ของประเทศแถบอาเซียนในวันที่ “จีน” จับตามองความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ส่วนอาเซียนเองก็เกรงว่า จะตกลงเหว “กับดักภูมิรัฐศาสตร์” เพราะยังต้องพึ่งพาพญาอินทรีย์อยู่เช่นกัน 

ทำไม ‘ไทย-อาเซียน’ เนื้อหอมในสายตา ‘จีน VS สหรัฐ’

  • จะมุ่งสู่การเป็น “มหาอำนาจโลก” ต้องผูกมิตรกับ “อาเซียน”

อาเซียนกลายเป็น “คู่ค้า” อันดับต้นๆ ของจีน หลังเกิดกรณีพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐที่รู้จักกันในชื่อของ “สงครามการค้า” โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อจีน ทำให้ทั้งสองประเทศเริ่มจุดชนวน “สงครามเย็นภาค 2” ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าซึ่งกันและกัน ศึกครั้งนี้ทำเอาจวนตัวทั้งคู่ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐมีฐานการผลิตในจีนค่อนข้างเยอะ ฝั่งจีนเองก็นำเข้าสินค้าจากสหรัฐไม่น้อยเช่นกัน เมื่อมีการโต้ตอบกันไปมาด้วยการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม ทั้งสองประเทศจึงต้องเริ่มวางแผนขยับขยายอาณาจักรของตนเองในที่ทางที่เหมาะสมมากขึ้น

“อาเซียน” ซึ่งมีพื้นที่เขตแดนติดต่อกับจีนถูกปักหมุดเป็นตัวเลือกแรกๆ ทันที โดยจีนเริ่มวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าที่เชื่อมโยงมายังพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ข้อมูลจากสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ระบุว่า “ซีเอ็นจีอาร์” (CNGR) บริษัทผู้ผลิตและให้บริการวัสดุที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเริ่มวางโรดแมปทางการค้า เชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเวียดนามราว 2 ปีที่แล้ว เหตุผลที่เลือก “เวียดนาม” เนื่องจากที่ตั้งของซีเอ็นจีอาร์อยู่ใกล้กับบริเวณท่าเรือชินโจว (Qinzhou) ท่าเรือที่เปรียบเสมือนระเบียงการขนส่งเชื่อมต่อทางบก-ทางน้ำที่ทางการจีนกำลังเร่งผลักดันอย่างหนัก โดยมีชายแดนประเทศเวียดนามอยู่ติดกับท่าเรือแห่งนี้

นอกจากนี้ ระยะเวลาในการขนส่งจากเมืองท่าชินโจวไปยังเมืองไฮฟอง (Hai Phong) ประเทศเวียดนามยังใช้เวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น โดยตามรายงานข่าวระบุด้วยว่า “จีน” ตั้งความหวังกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไว้ค่อนข้างสูง “เวียดนาม” เป็นประเทศที่มีปัจจัยถึงพร้อมในการเป็นโรงงานผลิตหลายประการ

หลักๆ คือ การกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนผ่านมาตรการลดกำแพงภาษีและต้นทุนแรงงานราคาถูก นอกจากท่าเรือชินโจวที่เป็นประตูเชื่อมต่อการค้ากับอาเซียน “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างจีนและอาเซียนด้วย

ความสำคัญและแต้มต่อของ “อาเซียน” ถูกยกระดับขึ้นเป็นวาระสำคัญของจีน เมื่อประเทศมังกรทองรู้ดีว่า ขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับ “A new reality” หรือความเป็นจริงใหม่ โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่หลายแห่งรวมทั้งซีเอ็นจีอาร์เป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่จำเป็นต้องหาทางออกด้วยการย้ายฐานผลิตมายังประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น ในขณะที่ฝั่งสหรัฐเองก็มีความพยายามอย่างหนักในการแทนที่ห่วงโซ่อุปทานที่ “จีน” เคยกินส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในมะกันมาก่อนหน้านี้

เจิ้ง หย่งเหนียน (Zheng Yongnian) นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยมองว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีน-อาเซียนเป็นเรื่องจำเป็นของทั้งสองฝ่ายในการตอบสนองต่อความท้าทายของโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น จีนไม่เพียงแต่พึ่งพิงอาเซียนเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังใช้กลยุทธ์ “Dual-circulation strategy” ในการบริหารประเทศด้วย กล่าวคือ จีนเองก็พึงระวังเสมอว่า ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ในวันที่เผชิญแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ 

ทำไม ‘ไทย-อาเซียน’ เนื้อหอมในสายตา ‘จีน VS สหรัฐ’

  • “จีน” หวังเข้าเส้นชัยนำ “สหรัฐ-ยุโรป” โดยมี “อาเซียน” เป็น “ทางลัด”

การย้ายฐานผลิต-สร้างความร่วมมือกับประเทศแถบอาเซียนมีนัยสำคัญมากกว่าการหวังผลคานอำนาจสหรัฐ โดยจีนยังถือโอกาสนี้ “มองข้ามช็อต” สร้างหลักประกันให้กับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปในตัวด้วยว่า หากอาเซียนที่ยังคงติดอยู่ในวังวนประเทศกำลังพัฒนาต้องการจะไปต่อบนเวทีโลก ความร่วมมือในระยะยาวกับจีนจะช่วยผลักดันอาเซียนสู่ศูนย์กลางทางการค้าโลก โดยมีจีนขนาบข้าง-ร่วมสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมบนห่วงโซ่อุปทานโลกได้

โครงเรื่องทำนองนี้ยังถูกการันตีโดยอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน โดยเขามองว่า ความร่วมมือในการสร้างตลาดร่วมกันในเอเชียจะเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับโครงสร้างปัจจัยการผลิต โครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การแข่งขันครั้งใหญ่ด้วย เขาพูดขนาดที่ว่า ตลาดในเอเชียที่มีจีนและอาเซียนเป็นโต้โผจะทำให้ “สหรัฐ” และ “ยุโรป” วิ่งตามไม่ทัน

ที่ผ่านมา จีนได้รับอานิสงส์จากกระแสโลกาภิวัฒน์จนผงาดขึ้นเป็นประเทศ “โรงงานโลก” แต่อย่างไรก็ตามรอยร้าวและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเหตุการณ์ที่สหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มที่จะ “โดดเดี่ยว” จีนต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปตลอดกาล สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์วิเคราะห์ว่า หลังจากนี้โครงสร้างการผลิตบนเวทีโลกจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย

  • ไม่ใช่แค่จีน แต่อาเซียนยังเนื้อหอมจน “สหรัฐ” ยกให้เป็นอนาคตของศตวรรษที่ 21

“อนาคตของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 จะต้องถูกเขียนขึ้นในอินโด-แปซิฟิก และในภูมิภาคของเรา” นี่คือคำกล่าวประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศในแถบมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิก โดยมี “อาเซียน” รวมอยู่ด้วยกลับมาได้รับความสนใจจากสหรัฐอีกครั้ง ผ่านการจัดตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2565 

หลักใหญ่ใจความของกรอบความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า หากแต่เป็นเพียงการจัดระเบียบ หารือ พูดคุยด้านเศรษฐกิจ 4 ส่วนด้วยกัน คือ  1. การค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่น 2. ความยืดหยุ่นในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน 3. โครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด และ 4. ภาษีและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

นัยสำคัญของการเปิดเวทีพูดคุยถึงกรอบความร่วมมือนี้คงไม่ใช่เพียงการหารือปรึกษาครั้งคราวแล้วจบไปเป็นแน่ แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปยังประเทศพันธมิตรคู่ค้าคนสำคัญของอาเซียนอย่าง “จีน” ในการรุกคืบ-สร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนอีกครั้ง แน่นอนว่า หลายประเทศอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยที่ต้องวางตัวเป็นกลางระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ

ในขณะที่ก่อนหน้านี้ “จีน” เร่งยกระดับความสัมพันธ์ผ่านการเชื่อมต่อด้วยโครงสร้างพื้นฐานมากมาย อาทิ โครงการ “Belt and Road Initiative” และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) หวังเชื่อมโยงกับพันธมิตรในอาเซียนอย่างใกล้ชิดด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รอบด้าน ราวกับเป็นการฟื้นคืนชีพ “เส้นทางสายไหม” อีกครั้ง

ทำไม ‘ไทย-อาเซียน’ เนื้อหอมในสายตา ‘จีน VS สหรัฐ’

  • เลือก “จีน” หรือ “สหรัฐ” แบบไหนส่งผลดีมากกว่ากัน?

ปี 2022 มูลค่าการค้าของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 975.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2019 ที่มีมูลค่ารวม 641.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนและอาเซียนเชื่อมโยงกันผ่านการเป็นคู่ค้ารายใหญ่ซึ่งกันและกัน หากรวมมูลค่าการส่งออกของอาเซียนไปยังจีนจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.7 เปอร์เซ็นต์ของสินค้านำเข้าในประเทศจีนทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังจีน ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า แร่ธาตุและเชื้อเพลิง ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนมีทั้งเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เป็นต้น

จากข้อมูลระบุว่า การลงทุนโดยตรงของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาส 1/2566 จีนมีการผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน-เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังเวียดนาม กัมพูชา และไทยมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่เป็นฐานที่มั่นการผลิตของจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรป

นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติสหรัฐที่เคยมี “จีน” เป็นกำลังผลิตหลัก แม้จะมีการโยกย้ายฐานผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามหลังกรณีสงครามการค้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Apple, Nike, Adidas หรือ Foxconn แต่โรงงานในเวียดนามก็ทำได้เพียงกระบวนการผลิตบางส่วนเท่านั้น สำหรับวัตถุดิบหลักรวมถึงการประกอบชิ้นส่วนบางประเภทยังคงต้องพึ่งพาจากจีนอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีนที่มีอาเซียนในฐานะ “ชิ้นปลามัน” แม้จะมีข้อดีในการเพิ่มขีดความสามารถ-เปิดโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในทางการค้า แต่อีกมุมหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เสถียรภาพของประเทศในอาเซียนสั่นคลอนเช่นกัน อาเซียนเองยังต้องพึ่งพาสหรัฐในฐานะ “Provider” ขณะที่เศรษฐกิจในภาพใหญ่ยังต้องพึ่งพาจีนเป็นหลักจึงไม่สามารถโน้มเอียงในทางใดทางหนึ่งได้ เพราะอาจทำให้อาเซียนตกอยู่ในกับดักหลุมพรางทางภูมิรัฐศาสตร์ในท้ายที่สุด

 

อ้างอิง: Daily NewsGlob ThailandSCMP 1SCMP 2Thairath PlusThe Momentum