สำนักงบฯ ชี้ถ้าได้นายกฯในเดือน ก.ค.พ.ร.บ.งบฯปี 67 ประกาศใช้ได้ มี.ค.ปีหน้า

สำนักงบฯ ชี้ถ้าได้นายกฯในเดือน ก.ค.พ.ร.บ.งบฯปี 67 ประกาศใช้ได้ มี.ค.ปีหน้า

สำนักงบฯ ชี้ถ้าได้นายกฯ - ครม.ใหม่ในเดือน ก.ค.ยังไม่เลื่อนปฏิทินงบประมาณปี 67 คาด พ.ร.บ.งบฯ 67 บังคับใช้ได้ในเดือน มี.ค.ปีหน้า แต่หากยังไม่ได้ในเดือนนี้ งบฯ67 จะล่าช้าออกไป ชี้ต้องรื้องบฯทำใหม่ทั้งฉบับเริ่มตั้งแต่ประชุม 4 หน่วยงาน เผยงบกลางฯเหลือ1 หมื่นล้านบาทเศษ

key points

  • การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีความเกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการโหวตเลือกนายกฯและการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ 
  • หลังรัฐบาลใหม่เข้ามาต้องมาจัดทำงบประมาณใหม่ทั้งฉบับ เริ่มตั้งแต่กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ 
  • สำนักงบประมาณได้เตรียมแผนการเบิกจ่ายงบประมาณไปพลางก่อนไว้ 6 เดือน โดยสมุติฐานว่าจะได้รัฐบาลใหม่ในเดือน ก.ค. ซึ่งในเดือน ส.ค.จะเริ่มขั้นตอนทำงบฯ67ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปรับปฏทินปีงบประมาณ 
  • ปัจจุบันมีงบกลางฯปี 66 เหลือเบิกจ่ายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ ซึ่งสำนักงบประมาณคาดว่าเพียงพอหากไม่เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ต้องงบประมาณจำนวนมาก

 

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่าขณะนี้สำนักงบประมาณยังไม่ได้เปลี่ยนปฏิทินงบประมาณจากเดิมที่คาดว่าขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีของสภาผู้แทนราษฎรจะเสร็จในเดือน ก.ค.2566 โดยจะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ามาบริหารช่วงเดือน ส.ค.2566 ซึ่งสำนักงบประมาณจะเริ่มขั้นตอนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ได้ภายในเดือน ส.ค.โดยเริ่มจากการเสนอปฏิทินงบประมาณให้ ครม.พิจารณาในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ส.ค.2566

รวมทั้งหลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการประชุมร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานได้แก่ 1.สำนักงบประมาณ 2.กระทรวงการคลัง 3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ 4.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 ใหม่จากนั้นจะให้หน่วยงานเสนอคำของบประมาณมายังสำนักงบประมาณเพื่อคัดกรองและเสนอเข้าสู่ ครม.ตามลำดับ 

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณปี 2567 จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 1 ได้ในเดือน ธ.ค.2566 และมีผลบังคับใช้ภายในเดือน มี.ค.2567 หรือล่าช้าไปกว่าปฏิทินงบประมาณปกติประมาณ 6 เดือน ซึ่งในช่วงเวลานี้หน่วยงานราชการสามารถใช้งบฯไปพลางก่อนได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.เห็นชอบไว้

สำหรับการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero based budgeting) ซึ่งเป็นนโยบายที่ 8 พรรคร่วมได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าเป็นนโยบายที่จะมีการเดินหน้าเมื่อเป็นรัฐบาล ผ.อ.สำนักงบประมาณกล่าวว่าหน่วยงานต่างๆที่มีการรับงบประมาณได้มีการทบทวนการใช้งบประมาณในลักษณะเดียวกับการจัดทำ zero based budgeting อยู่แล้วในส่วนของงบลงทุน โดยไม่ใช่ลักษณะของการทำงบประมาณที่ของบเพิ่มขึ้นได้ทุกปีโดยไม่มีการทบทวนความจำเป็นของโครงการที่ของบประมาณ

ซึ่งในส่วนการทบทวนการทำงบประมาณของหน่วยงานราชการก็ต้องดูถึงความจำเป็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในช่วงการจัดทำงบประมาณปี 2567 และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ที่ต้องทำควบคู่กันก็จะมีการพิจารณาในเงื่อนไขการจัดทำงบประมาณในรูปแบบนี้ ให้สอดคล้องกับระยะเวลในการจัดทำงบประมาณ และนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาด้วย

สำหรับงบกลางรายการฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนพ.ศ.2566 ที่มีข่าวว่าเหลือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ผ.อ.สำนักงบประมาณกล่าวว่างบกลางฯเหลือจริงๆเพียง 1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยในส่วนนี้ยังถือว่าเพียงพอที่จะไว้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เร่งด่วนที่อาจเกิดขึ้นได้

ส่วนหากเกิดเหตุการณ์อุทกภัย หรือภัยพิบัติขึ้นแล้วต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลในส่วนนี้แต่ละจังหวัดสามารถใช้เงินทดลองราชการเพื่อจ่ายช่วยเหลือประชาชนไปก่อนได้ ส่วนการจ่ายเยียวยาความเสียหายที่เป็นการชดเชยน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต่างๆต้องรอให้รัฐบาลต่อไปเข้ามาอนุมัติงบประมาณหลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินความเสียหายเสร็จแล้ว