'สภาพัฒน์' ลงพื้นที่ จะนะ เวที 'SEA' ระดมความเห็นสร้างแผนพัฒนาสงขลา-ปัตตานี

'สภาพัฒน์' ลงพื้นที่ จะนะ เวที 'SEA' ระดมความเห็นสร้างแผนพัฒนาสงขลา-ปัตตานี

“สศช.” ลงพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เดินหน้าจัดเวทีทำ SEA แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่สงขลา – ปัตตานี ในเวที 9 – 14  จากกำหนดอย่างน้อย 40 เวที เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา สศช. โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (เวทีที่ 9 - 14) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

 

ซึ่ง สศช. ได้ยกร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษาและใช้กระบวนการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งได้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของ สศช. เพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในกรอบระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน พร้อมทั้งกำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นไม่น้อยกว่า 40 เวที ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการหารือกลุ่มย่อยแบบไม่เป็นทางการ

\'สภาพัฒน์\' ลงพื้นที่ จะนะ เวที \'SEA\' ระดมความเห็นสร้างแผนพัฒนาสงขลา-ปัตตานี

การประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการจัดการระดมความคิดเห็นอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 เวทีที่ 9 - 14 ซึ่งกำหนดดำเนินการใน 2 จังหวัด คือเวทีที่ 9 - 10 ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เวทีที่ 11 - 12 ณ ห้องประชุมสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และเวทีที่ 13 – 14 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวชี้วัด ข้อมูลฐาน และระดมความคิดเห็น (ร่าง) แผนการสื่อสารและการมีส่วนร่วม

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่เป้าหมายทั้งในจังหวัดสงขลาและพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น

 

นอกจากนั้นยังมีภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น และ สื่อมวลชน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวนกว่า 500 คน 

โดยในการดำเนินการแบ่งการระดมความคิดเห็นออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า เป็นการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการศึกษาและศักยภาพของพื้นที่ในจังหวัดสงขลาและปัตตานี และ (ร่าง) เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวชี้วัด

\'สภาพัฒน์\' ลงพื้นที่ จะนะ เวที \'SEA\' ระดมความเห็นสร้างแผนพัฒนาสงขลา-ปัตตานี

โดย ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มอ.  ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผน  รศ.ดร.ฐิติวร ชูสง ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศฯ ดร.เพ็ญ สุขมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ   ดร.กุลทัต หงส์ชยางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์  ผศ.ดร.นิทัศน์ เพราแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการและพัฒนาคุณภาพ มอ. และ ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์  ผู้อำนวยการศูนย์อาสาสมัคร มอ. 

 

ช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการสื่อสารและการมีส่วนร่วม โดย ผศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ และ นายอุสมาน  หวังสนิ 

 

ผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ที่ปรึกษาจะนำไปใช้ประกอบในการวิเคราะห์เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ ประเด็นพัฒนา เป้าประสงค์ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนแม่บทฯ

 

 ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: @SEASongkhlaPattani หรือประสานฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์