‘รัฐบาลใหม่’เจอโจทย์ยากเศรษฐกิจ ‘กอบศักดิ์’แนะแผนกระตุ้น - ปรับโครงสร้าง

‘รัฐบาลใหม่’เจอโจทย์ยากเศรษฐกิจ  ‘กอบศักดิ์’แนะแผนกระตุ้น - ปรับโครงสร้าง

“กอบศักดิ์” มองนโยบายเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง อาจขาดเสถียรภาพจากการเป็นรัฐบาลผสม คาดพรรคร่วมมุ่งตอบโจทย์ตามที่แต่ละพรรคหาเสียง ชี้รัฐบาลใหม่เจอโจทย์ยาก recession จากดอกเบี้ยสูง กระทบศก.หลายประเทศ แนะนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยว ฟรีวีซ่า1ปี ดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าไทย   

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง” ในเวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ วานนี้ (3 ก.ค.) ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับตำแหน่งและเริ่มบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลปัจจุบันจะพบกับปัญหาเศรษฐกิจโลกพอสมควร ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่การบริหารเศรษฐกิจจะยากเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อเนื่องเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

แต่ขณะนี้เงินเฟ้อในสหรัฐฯยังไม่ลดลงทำให้เฟดยังคงต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง และอาจจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นหากเงินเฟ้อไม่ลดก็อาจเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกได้ ส่วนดอกเบี้ยของไทยนั้นคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 – 3 ครั้ง ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 2.25 -  2.5% หรือปรับขึ้นจากในช่วงที่เคยเกิดวิกฤติโควิด19 ประมาณ 1.75 – 2%  

รัฐบาลหน้าเจอเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ 

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตาก็คือการที่ดอกเบี้ยหลายประเทศอยู่ในระดับสูงอาจทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหา เศรษฐกิจถดถอย (recession) ในบางประเทศ ซึ่งขณะนี้มีกองทุนระดับโลกเริ่มออกมาเตือนถึงสัญญาณ recession ในบางประเทศที่อาจทำให้เกิดฮาร์ดแลนด์ดิ้งในระบบเศรษฐกิจจนกระทบเศรษฐกิจในวงกว้างได้

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังสามารถที่จะไปได้จากแรงส่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีมาก โดยในปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 11 ล้านคน แต่ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 10.8 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากถึงเดือนละ 3 ล้านคนในช่วงไฮต์ซีซั่น ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้นและเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น

“รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะเจอกับช่วงยากของเศรษฐกิจ ลมที่พัดจากเศรษฐกิจภายนอกทำให้การบริหารงานช่วง 1 ปีแรกของรัฐบาลใหม่จะยาก ก่อนที่จะค่อยๆคลี่คลาย หลังจากเดือน ส.ค.ปีหน้า ซึ่งในช่วงแรกรัฐบาลสามารถที่จะทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย

แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณของเราในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่ทำในเรื่องของการปลดล็อกการท่องเที่ยวโดยการฟรีวีซ่าเพื่อดึงการท่องเที่ยวในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่เข้ามาไปชดเชยการส่งออกและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงถือว่าเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 1 ปีต่อจากนี้สามารถขยายตัวได้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

รอความชัดเจนนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าในขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงนโนยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล และยังมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าภายในกลางเดือน ก.ค.นี้จะเห็นทิศทางและความชัดเจนของผู้ที่จะเป็นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

จากนั้นก็จะเห็นคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆว่าเป็นใครมาจากพรรคไหนบ้าง ถึงจะเห็นนโยบายเศรษฐกิจว่าจะมีนโยบายอะไรและมีทิศทางอย่างไรซึ่งจะกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลผสมขาดเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตามตนมองว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะไม่มีความเป็นเอกภาพมากนักเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งแต่ละพรรคก็มีนโยยบายเร่งด่วน และนโยบายที่จะให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งคล้ายกับรัฐบาลผสมในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

“นโยบายเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งในขณะนี้ยังไม่ชัด เนื่องจากต้องดูพรรคที่จะมาเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล และต้องดูว่าใน ครม.ที่เป็นรัฐบาลผสมแต่ละกระทรวงพรรคไหนจะเข้าไปเป็น รมว.บ้าง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไปคงไม่เป็นเอกภาพมากนัก เนื่องจากโครงสร้างรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม แล้วความที่ไม่เป็นเอกภาพเพียงพอก็ไม่ง่ายในการบริหารเศรษฐกิจ”นายกอบศักดิ์ กล่าว

‘รัฐบาลใหม่’เจอโจทย์ยากเศรษฐกิจ  ‘กอบศักดิ์’แนะแผนกระตุ้น - ปรับโครงสร้าง สำหรับความท้าทาย 3 ประการที่รัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญ และต้องมีการเตรียมแผนที่จะรับมือได้แก่

1.ความท้าทายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 4.0 ซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ChatGPT รวมทั้งเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ทำในเรื่องการผลิตในโรงงาน การใช้หุ่นยนต์ ซึ่งหากไทยไม่สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับแรงงานไทย หรือไม่มีนโยบายรองรับและส่งเสริมเทคโนโลยีหล่านี้จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า หากไทยไม่ปรับเปลี่ยนจะไม่ทันกับเพื่อนบ้าน

2.ความท้าทายในเรื่องของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยปัจจุบันการลงทุนกำลังย้ายฐานมายังภูมิภาคอาเซียน จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นมากกว่าการเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนิเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งในส่วนนี้นอกจากนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนยังต้องเดินหน้าโครงการสำคัญๆ ได้แก่ การเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นท่าเรือที่ส่งสินค้าจากไทยไปยังอินเดียได้เร็วขึ้นซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็บฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ในอนาคต

และ3.ความท้าทายในเรื่องจุดยืนของประเทศไทย ในบริบทความขัดแย้งของมหาอำนาจโลก ซึ่งในประเด็นนี้ทั้งจีนและสหรัฐฯต้องการให้ไทยแสดงจุดยืนว่าเราอยู่ข้างมหาอำนาจฝั่งไหน แต่ประเทศไทยนั้นย้ำจุดยืนของอาเซียนในการที่เป็นกลาง และปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะต่อไปมากกว่าเราจะเข้าข้างมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง