20 ปี ดับบลิวเอชเอ พลิกคลังสินค้าสู่ 'เทคคอมปานี'

20 ปี ดับบลิวเอชเอ พลิกคลังสินค้าสู่ 'เทคคอมปานี'

WHA กำลังเดินหน้ากลยุทธ์ก้าวสู่การเป็น Technology Company ภายในปี 2567 ภายใต้ภารกิจที่ชื่อว่า “Mission to the Sun” เปลี่ยนภาพจำเดิมจากจุดเริ่มต้นธุรกิจคลังสินค้าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคอุตสาหกรรม

สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับแนวทางเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเซ็ตระบบจากธุรกิจครอบครัวให้ผู้นำมืออาชีพขึ้นดำรงตำแหน่งแทน


นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 WHA เข้าสู่ปีที่ 20 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจคลังสินค้าและโรงงาน แล้วบริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2557 ด้วยชื่อ WHA ย่อมากจากคำว่า Warehouse Asia Alliance แต่วันนี้เรากำลังจะเปลี่ยนตัวตนของแบรนด์ซึ่งจะได้เห็นกันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กลายเป็น Well-being, Human Progress และ Accessibility ซึ่งสะท้อนคุณค่าหลักของธุรกิจที่ช่วยให้คนส่วนมากสามารถเข้าถึงได้ ทุกชีวิตมีการพัฒนาสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ธุรกิจโลจิสติกส์ของเราช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ ทำให้คนสามารถเข้าถึงการบริการที่ดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคเข้าไปพัฒนาที่ดินให้เกิดการลงทุนและสร้างงาน ทำให้ชุมชนรอบด้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

สำหรับการดำเนินงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 

1.ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจตั้งต้นของดับบลิวเอชเอ ด้วยคอนเซปต์การสร้างคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit โดยสถิติ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหาร ทั้งหมด 2,720,000 ตารางเมตร และมีโลเคชั่นมากกว่า 50 แห่ง

ขณะที่ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจสร้างและให้เช่าคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังเพิ่มบทบาทนการเป็นผู้ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในและระบบออโตเมชั่นที่สร้างให้ลูกค้าทั้งหมดแล้วจ่ายเป็นค่า รวมทั้งการพัฒนาเป็นกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าให้มี EV Truck ในการขนส่ง 80,000 คัน ภายใน 3 ปีข้างหน้า

สำหรับปีนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ตั้งเป้าขยายธุรกิจ 200,000 ตร.ม. ต่อปี ในประเทศไทย โฟกัสในพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ ได้แก่ กรุงเทพฯ บางนา-ตราด กม. 18-23 และจังหวัดต่างๆ ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในเวียดนาม

2.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งหมด 12 นิคมอุตสาหกรรม อยู่ในไทย 11 แห่ง และในเวียดนาม 1 แห่ง โดยยังมีแผนที่ขยายพื้นที่เพิ่มอีกหลายแห่ง เพื่อรองรับโอกาสในช่วงเทรนด์เคลื่อนย้ายฐานทุนที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้ โดยนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ทั้ง 11 แห่งเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาแล้ว รวมมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานมากกว่า 2 แสนคน

สำหรับปีนี้ ดับบลิวเอชเอ มีแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มองว่าไทยจะกลายเป็นฮับของการผลิตในภูมิภาคนี้ ซึ่งเราได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ผลิตต้นน้ำของอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ ถึงความพร้อมของอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่ดีลใหญ่แห่งปีกับค่ายรถยนต์ BYD พื้นที่ 600 ไร่ และคลัสเตอร์ซัพพลายเชนอุตสาหกรรมที่จะตามมา

“อีวีเป็นเทรนด์แห่งอนาคตของโลกที่จะต้องเกิดขึ้น ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและความยั่งยืน และไทยจะเป็นอีวีฮับของภูมิภาคนี้ โดยเราติดต่อกับประเทศต้นน้ำชวนเข้ามาลงทุนในไทย ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าจากค่ายรถยนต์จีนในนิคมฯ 3 แบรนด์ ได้แก่ MG, GWM และ BYD รวมทั้งมีดีลที่กำลังคุยอีก 2 ราย”

ทั้งนี้ ยังมีแผนขยายธุรกิจนิคมฯ ในเวียดนามให้เติบโตมากขึ้นหลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการในจังหวัดเหงะอานเฟสแรก โดยมีแผนจะสร้างนิคมเพิ่มอีก 2 แห่ง ล่าสุด บริษัทกำลังมีโครงการกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม พื้นที่กว่า 300 ไร่

3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ให้บริการน้ำ ไฟฟ้า แก๊สและพลังงานสะอาด เดินหน้าขยายธุรกิจสาธารณูปโภคทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์น้ำเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) และน้ำปราศจากแร่ธาตุ

4.ธุรกิจดิจิทัล เป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่จากเทคโนโลยีดิจิทัล

“ธุรกิจดิจิทัลเกิดขึ้นในปี 2560 ที่มองว่าธุรกิจเราคือโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ แต่ภาพในอนาคตมันคือเทรนด์ของดิจิทัล องค์กรจึงต้องทรานส์ฟอร์มดิจิทัลเทคโนโลยีให้เข้ากับโครงสร้างธุรกิจเดิมที่มีอยู่ โดยเป็นการทรานส์ฟอร์มองค์กรในแบบดับบลิวเอชเอ”

ทั้งนี้ แต่ละองค์กรมีความพร้อมต่างกัน ซึ่งจุดอ่อนหลักที่เจอคือเรื่องของระบบหลังบ้าน IT และคน ที่ยังคุ้นชินกับเรื่องเดิมๆ ดับบลิวเอชเอจึงเริ่มด้วยการตั้งฝ่าย Digital Innovation ที่จะเข้าไปทดลองธุรกิจใหม่กับสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีข้างนอกก่อน แล้วนำมาพัฒนาธุรกิจเดิม เช่น โครงการเทรนดพลังงานสะอาด peer to peer ด้วยสมาร์ทไมโครกริด ระบบ SCADA ควบคุมการดูแลนิคมฯ และการใช้ข้อมูลที่เกิดจากการดำเนินงานมาพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่

20 ปี ดับบลิวเอชเอ พลิกคลังสินค้าสู่ \'เทคคอมปานี\'

การลงทุนใน “เมตาเวิร์ส” เป็นหนึ่งในสิ่งที่บริษัทกำลังเตรียมการด้วยการศึกษาความเป็นไปได้หลายอย่าง โดยโครงการที่ดำเนินการอยู่นั้นมีชื่อเรียกว่า “เมตาดับบลิว" ให้ลูกค้าได้เห็นพื้นที่นิคมฯ จริงในโลกเสมือนเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจ ทั้งเรื่องคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใกล้เคียง และฮวงจุ้ยโรงงาน โดยในอนาคตจะพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มให้ลูกค้าในนิคมฯ เชื่อมโยงกันเองได้ด้วย 

การพัฒนาธุรกิจสุขภาพ แอปพลิเคชัน WHAbit เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การบริการ Telemedicine โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึงบริการและโซลูชันด้านการดูแลสุขภาพได้มากขึ้น และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน ชุมชนโดยรอบนิคมฯ และผู้ประกอบการที่จะมีต้นทุนสวัสดิการที่ถูกลงด้วย

“WHA กำลังก้าวเข้าใกล้การเป็น Technology Company มากขึ้น โดยเราส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ ให้กับทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล พร้อมกับบรรลุเป้าหมายการสร้างขยะเป็นศูนย์ในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือเน็ตซีโร่ในปี 2050 ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ถือเป็นดีเอ็นเอของดับบลิวเอชเอมาตลอด เนื่องจากธุรกิจเรากระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่ผู้คนจำนวนมาก"

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของ WHA ในอนาคต คือ การวางทายาททางธุรกิจ

“วันนั้นที่ตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรพย์ เพราะเราเชื่อว่า WHA จะเติบโตอย่างมากในอนาคต เราจึงต้องการมืออาชีพมาร่วมงาน จึงต้องผลักจากธุรกิจครอบครัวมาเป็นบอร์ดบริหารที่เป็นมืออาชีพ โดยไม่มีญาติเข้ามานั่งบริหารเลย รวมทั้งยังเตรียมระบบที่จะส่งต่อให้ผู้บริหารรุ่นถัดไปไว้ 3 รุ่น พร้อมเปลี่ยนถ่ายขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรคนใหม่ สำหรับญาติหากไม่เก่งจริงก็มีหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นที่ดีได้”