แลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีหัวลำโพง’ ศูนย์เรียนรู้รถจักรประวัติศาสตร์

แลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีหัวลำโพง’ ศูนย์เรียนรู้รถจักรประวัติศาสตร์

การรถไฟฯ เดินหน้าเนรมิต “สถานีหัวลำโพง” สู่แลนด์มาร์คจัดกิจกรรมระดับโลก พร้อมผลักดันการท่องเที่ยวคู่ประวัติศาสตร์ นำรถจักรโบราณ 7 คันหาชมได้ยากจัดแสดงเป็นการถาวร

“สถานีกรุงเทพ” หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันในนาม “สถานีหัวลำโพง” วันนี้แม้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ปรับลดบทบาทจากเดิมที่เคยใช้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของระบบรถไฟไทย แต่นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ร.ฟ.ท.ได้ปรับเส้นทางการเดินรถออก - เข้า สถานีกรุงเทพใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้เปิดให้บริการฮับระบบรถไฟไทยแห่งใหม่ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

โดยสถานีหัวลำโพง ขณะนี้กำหนดให้ขบวนรถท่องเที่ยว ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถชานเมือง จำนวน 62 ขบวน แบ่งออกเป็น

  • สายตะวันออก จำนวน 22 ขบวน
  • สายเหนือ จำนวน 16 ขบวน
  • สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ขบวน
  • สายใต้ จำนวน 4 ขบวน
  • ขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 14 ขบวน

แลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีหัวลำโพง’ ศูนย์เรียนรู้รถจักรประวัติศาสตร์

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่า ตามที่นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ มีนโยบายที่ต้องการส่งเสริม และอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้เป็นแลนด์มาร์กทางมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ควบคู่กับดำรงให้คงเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญของคนไทยจากอดีตก้าวไปสู่อนาคต

โดย ร.ฟ.ท.ได้เปิดพื้นที่สถานีกรุงเทพ เพื่อต่อยอดการจัดกิจกรรมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชม เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของหัวลำโพง และระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับโลก หลังจากที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จหลายกิจกรรม อาทิ Hua Lamphong in Your Eyes , Unfolding Bangkok ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่มีการจัดแสดงแสง สี เสียง ดนตรี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีผู้เข้าร่วมงานสูงสุดกว่า 3 หมื่นคนต่อวัน

แลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีหัวลำโพง’ ศูนย์เรียนรู้รถจักรประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการนำรถจักรที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หาชมได้ยาก และมีความสวยงาม จำนวน 7 คัน มาจัดแสดงเป็นการถาวรที่สถานีหัวลำโพง บริเวณชานชาลาที่ 4 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อร่วมเรียนรู้วิวัฒนาการของรถจักรในประเทศไทย อีกทั้งยังมีโครงการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากิจการรถไฟไทย การจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความสำคัญ และทรงคุณค่าในอดีตภายในสถานีหัวลำโพงอีกด้วย

แลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีหัวลำโพง’ ศูนย์เรียนรู้รถจักรประวัติศาสตร์

โดยกิจกรรมนำรถจักรที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หาชมได้ยาก มาจัดแสดงจำนวน 7 คันนั้น ประกอบด้วย

1. รถจักรไอน้ำเลขที่ 54 (A – CLASS)

เป็นรถจักรไอน้ำในรุ่นเลขที่ 51-56 (A – CLASS)   ใช้การระหว่างปี พ.ศ.2454 – 2508

2.รถจักรไอน้ำเลขที่ 61 (A – CLASS)

เป็นรถจักรไอน้ำในรุ่นเลขที่ 57-63 (A – CLASS) ใช้การระหว่างปี พ.ศ.2453 – 2508

3.รถจักรไอน้ำเลขที่ 165 (E – CLASS)

เป็นรถจักรไอน้ำในรุ่นเลขที่ 156-197 (E – CLASS) ใช้การระหว่างปี พ.ศ.2456 – 2510

4. รถจักรไอน้ำเลขที่ 278   

เป็นรถจักรไอน้ำในรุ่นเลขที่ 260 – 282  ใช้การระหว่างปี พ.ศ.2471 – 2511

5. รถจักรไอน้ำเลขที่ 336 

เป็นรถจักรไอน้ำ เลขที่ 336 เริ่มใช้การระหว่างปี พ.ศ.2469 – 2509

6. รถจักรดีเซลไฟฟ้า เลขที่ 518 (ดาเวนปอร์ต 500 แรงม้า)

เป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้า ในรุ่นเลขที่ 511-540 (ดาเวนปอร์ต 500 แรงม้า) ใช้การระหว่างปี พ.ศ.2495 – 2530

7. รถจักรดีเซลไฟฟ้า เลขที่ 537 (ดาเวนปอร์ต 500 แรงม้า)

เป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้า ในรุ่นเลขที่ 511-540 (ดาเวนปอร์ต 500 แรงม้า) ใช้การระหว่างปี พ.ศ.2495 - 2530