“เวิล์ดแบงค์”ชี้การเมืองผุดนโยบายใช้เงิน สวนทางการจัดเก็บรายได้ต่ำ

“เวิล์ดแบงค์”ชี้การเมืองผุดนโยบายใช้เงิน สวนทางการจัดเก็บรายได้ต่ำ

การเงินและการคลังเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาประเทศดังนั้น การวางแผนและปฎิรูปเมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปตามเป้าหมายและสร้างความมั่นคงได้ ธนาคารโลก หรือ เวิล์ดแบงค์

ได้จัดทำและเผยแพร่รายงาน“การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย”  ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน 

เพื่อรับมือกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ จากปัจจัยท้าทายต่างๆ ทั้งสังคมสูงวัย สวัสดิการผู้สูงอายุ การรักษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ฮัสซัน ซามาน ผู้อำนวนการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ด้านการเติบโต การเงิน และสถาบันอย่างเท่าเทียม ธนาคารโลก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 7% ในช่วง 2523-2539 แต่ปัจจุบันอัตราการเติบโตชะลอลง ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของความยากจนในประเทศไทยด้วย 

ดังนั้น เรื่องมาตรการทางการเงิน ทุนมนุษย์ ภาษี หากวางแผนดำเนินการอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การฟื้นฟูประเทศและลดความยากจนได้ โดยต้องมีการปฎิรูปเชิงโครงสร้างผ่านการเพิ่มขนาดประชากรที่จะเป็นแรงงาน ทั้งการขยายอายุเกษียณ หรือ การปฎิรูประบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน 

“ประเทศไทยค่อนข้างจะมีการลงทุนด้านทุนมนุษย์ที่ชะลอตัว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทั้งการมุ่งไปสู่ประเทศรายได้สูงและการสร้างความมั่นคงทางการคลัง  ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ทั้งด้านประชากรและโครงสร้างทางกายภาพจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆทั้งสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมามีคำสัญญาที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากแต่ยังไม่เห็นแผนการหารายได้ที่ชัดเจน ซึ่งรายงานที่ธนาคารโลกเผยแพร่นี้จะเป็นคำตอบการหารายได้ของไทยและเปิดโลกแห่งความจริงว่าด้วยการเพิ่มรายจ่ายที่ทำได้จริงแบบไม่ต้องรัดเข็มขัดมากจนเกินไป รวมถึงการเพิ่มรายได้ในสัดส่วนที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่กลุ่มเปราะบาง โดยใช้หลักการทั้งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือVAT ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บรายได้จากกลุ่มผู้มีรายได้สูงแม้จะกระทบกำลังซื้อบ้าง ขณะเดียวกันสามารถปฎิรูปการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัย ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนลงได้

“แนวทางเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ควบคู่ไปกับการปฎิรูปแบบการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมจริงจะช่วยลดการต่อต้านการปฎิรูปได้ สำหรับประเทศไทยต่างจากประเทศอื่นๆที่สามารถลงมือทำได้จริงเพราะมีโครงสร้างที่ได้พิสูจน์ว่ามีช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่ายที่สามารถบริหารจัดการด้านสังคมได้ ซึ่งพิสูจน์แล้วจากการรับมือกับโควิดในช่วงที่ผ่านมา”

ด้านเอ็นเดียมา  ดอร็ป ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้จะเป็นข้อเสนอแนะหนึ่งที่จะช่วยให้ไทยที่กำลังมีความพยายามจะขยับไปสู่ประเทศมีรายได้สูงแต่เพิ่งผ่านการรับมือกับปัญหาโควิดและกิจกรรมเศรษฐกิจก็เพิ่งกลับมา ซึ่งเบื้องต้นรายงานชี้ว่าไทยเองไม่จำเป็นต้องรัดเข็มขัดมากจนเกินไปเพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการคลังอีก  แต่ไทยต้องมีการจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่ายท่ามกลางความจำเป็นการรักษาเพดานหนี้ไม่ให้สูงจนเกินไป โดยปัจจุบันอยู่ในสัดส่วนที่ 60% ซึ่งถือว่าสมเหตุสมผล และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ  “เวิล์ดแบงค์”ชี้การเมืองผุดนโยบายใช้เงิน สวนทางการจัดเก็บรายได้ต่ำ

โดยไทยต้องปฎิรูปการจัดหารายได้ประเทศและรักษารายได้ครัวเรือนไว้ ขณะที่การจัดการด้านสาธารณะสุขของไทยทำได้ดีจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยที่จะทำให้เดินหน้าปฎิรูปการคลังได้อย่างรวดเร็วแม้ประเด็นการศึกษาของไทยที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจากผลการประเมินของPISAที่อยู่ในระดับ“ปานกลาง”ถึง“ต้องปรับปรุง”

สำหรับฝั่งการหารายได้ของไทยพบว่า ประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษียังต่ำเมื่อเทียบกับจีดีพีดังนั้น ไทยต้องเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพในส่วนนี้เพื่อสร้างช่องว่างให้สามารถบริหารจัดการให้จีดีพีสูงขึ้นและดูแลสังคมด้วย ทั้งการลงทุนภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนด้านสังคมเพื่อให้เกิดระบบการคลังที่ยั่งยืน ซึ่งการปฎิรูปการจัดการรายได้จะสามารถเพิ่มจีดีพีไทยได้อีก 3-4% หากทำได้ดี 

“การจัดเก็บรายได้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยยังมีช่องว่าทางภาษีเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างความสามารถการจัดเก็บภาษี ซึ่งอยู่ที่ 5.6%ของจีดีพีทำให้รายได้ปัจจุบันจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายในอนาคต”

รายงานระบุว่า ระบบภาษีของประเทศไทยมีส่วนช่วยส่งเสริมความเสมอภาคได้ค่อนข้างน้อย โดยสัดส่วนของภาษีที่มีความก้าวหน้า เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมรดกมีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาษีรวม โดยมีจำนวนผู้ยื่นภาษีในระดับต่ำและมีคนอยู่นอกระบบภาษีสูง 

จากมุมมองของรายงานธนาคารโลกนี้ ไทยมีศักยภาพและความสามารถที่จะสร้างความยั่งยืนทางการคลังได้เพียงแค่ยอมรับและลงมือทำ