6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึง 6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ คือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเชิงของการขาดแคลนกำลังซื้อหรืออุปสงค์

 เพราะเศรษฐกิจไทยนั้น 58% ของรายได้ (จีดีพี) มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ แต่ปัญหาโครงสร้างที่หมักหมมมานาน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงอุปทาน (supply) ที่ต้องรีบแก้ไข น่าจะมีอย่างน้อย 5 เรื่องคือ การเกษตร การศึกษา พลังงาน สาธารณสุขและการเพิ่มการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ในความเห็นของผมนั้น การตอบโจทย์ 5 ข้อดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีและยั่งยืน พร้อมไปกับการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ

ภาคเกษตร เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำมาก และในภาพรวมเกือบจะไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเลย เห็นได้จากการที่ผลผลิตต่อไร่ของธัญพืชของไทย (ส่วนใหญ่คือข้าว) เพิ่มขึ้นเพียง 5% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับอินเดียและเวียดนาม ที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 40% ในช่วงเดียวกัน นอกจากนั้นก็ยังมีตัวเลขดังต่อไปนี้ที่ตอกย้ำประสิทธิภาพที่ต้องแก้ไข ของภาคเกษตรไทย

1.ผลผลิตภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 8.5% ของจีดีพี ในขณะที่ใช้แรงงานประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมดเทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วน 35% ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานเพียง 23% ของแรงงานทั้งหมด

2.ประเทศไทยมีพื้นที่รวม 320 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่การเกษตรมากถึง 144 ล้านไร่หรือ 45% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ (เพื่อผลิตเพียง 8.5% ของจีดีพี) 

3.งบประมาณที่ใช้อุดหนุนภาคเกษตรซึ่งส่วนใหญ่คือ การประกันราคาและประกันรายได้นั้นใช้เงินปีละกว่า 1 แสนล้านบาทหรือประมาณ 10% ของผลผลิตการเกษตร ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตร แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้

แล้วจะต้องทำอย่างไร คำตอบคือจะต้องใช้เทคโนโลยี ความรู้และทุนเพื่อผลิตสินค้าเกษตรที่ตลาดต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มผลิตภาพของพืชหลักและการผลิตรพืชเกษตรราคาสูง เช่น ผักและผลไม้

ตัวอย่างเช่น การปลูกทุเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เกษตรกรไทย “ทำได้” ทำให้การส่งออกทุเรียนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 6,200 ล้านบาทในปี 2555 มาเป็น 110,140 ล้านบาทในปี 2565 ใกล้เคียงกับรายได้จากการส่งออกข้าว ซึ่งมูลค่าเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 10 ปีดังกล่าว

สำหรับการปลูกข้าวนั้น การเพิ่มผลิตภาพจะต้องมาจากการเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ที่เรียกกันสั้นๆ ว่าเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ซึ่งได้มีการทำการทดลองได้ผลเป็นอย่างดี และตีพิมพ์ผลในวารสารทางวิชาการแล้ว เช่น

- การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุชนิดต่างๆ เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมัก ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต

- การปรับระดับดินให้เท่ากัน (laser land levelling) ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และปล่อยก๊าซมีเทนลดลง เพราะใช้น้ำขังลดลง (ก๊าซมีเทนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า) 

- ทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ (ลดมีเทน) ทำให้ข้าวแข็งแรงทนต่อโรคมากขึ้น ใช้ปุ๋ยน้อยลง ทำให้ผลผลิตสูงขึ้นการใช้เครื่องปลูกข้าวชนิดลาก (rice drum feeder) และการใช้เครื่องดำนา แทนการหว่านข้าวเพื่อลดการใช้เมล็ดข้าว

การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในแปลงทดลองที่ชัยนาทและนครสวรรค์ ต้องอาศัยความรู้ เทคโนโลยีและการลงทุน แต่ผลที่ได้รับจากการรายงานของงานวิจัยคือ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง 20-29% การใช้ยาฆ่าแมลงลดลง 28% การใช้เมล็ดข้าวลดลง 60% และการใช้ปุ๋ยลดลง 41% ผลที่ตามมาคือกำไรของเกษตรกรเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 79%

(ที่มา : Improving the Sustainability of Rice Culturation in Thailand with Biofertilizers and Laser Land Leveling Agronomy 18 February 2023)

นอกจากนั้นก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน เช่น การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินอย่างรวดเร็วโดยใช้ Near Infrared Soil Scanner การประเมินการเจริญเติบโตของพืชโดยใช้ภาพดาวเทียม ร่วมกับแบบจำลอง AI เพื่อประเมินสถานภาพของพืชผลอย่างเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการใช้แรงงานลงไปตรวจแปลง ตลอดจนคาดการณ์วันเก็บเกี่ยว (เพื่อการเตรียมการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม) เป็นต้น

สำหรับเรื่องของการเผาซังข้าวโพดและอ้อยนั้น เทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ก็อาจนำมาใช้ได้ในบางส่วนสำหรับข้าว สำหรับข้าวโพดนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะปลูกและเผาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจะต้องไปเข้มงวดกับบริษัทที่ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว และการปลูกกาแฟมาทดแทน

สำหรับอ้อยนั้น สามารถใช้รถตัดอ้อยแทนการเผาต้นอ้อยเพื่อให้คนเข้าไปตัดอ้อย แต่ภาครัฐจะต้องให้การส่งเสริมและช่วยเหลือให้ใช้รถตัดแทนการเผาอ้อยอย่างจริงจัง

คงจะมีเทคโนโลยีอีกหลายอย่าง ที่สามารถนำมาใช้เพื่อทำให้ภาคเกษตรของไทยลดต้นทุน เพิ่มกำไรและลดผลกระทบต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม และเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง

เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีและการเผาย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่ก่อนโควิดทำรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 12% ของจีดีพีและการท่องเที่ยวของคนไทยเองอีก 8% ของจีดีพี นอกจากนั้นก็ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยดังที่เห็นแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น สหภาพยุโรปก็ได้ออกกฎหมายปรับราคา (เก็บภาษี) คาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเชิงของการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในเดือน ต.ค.นี้ และกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าเกษตร 7 ชนิดหากผลิตจากพื้นที่รุกป่า (Deforestation Law) ซึ่งน่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้เช่นกัน

ดังนั้น การขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยด้วยความรู้เทคโนโลยีและเงินลงทุน ย่อมจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของไทยในตลาดโลก และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะภาคเกษตรเป็นภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร