เงินสะพัด ‘เปิดเทอม ’ 5.7 หมื่นล้าน สูงสุดรอบ 14 ปี

“ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยเงินสะพัดเปิดเทอมแตะ 5.7 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 14 ปี หลังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น ขณะที่นโยบายพรรคการเมืองด้านการศึกษาผู้ปกครองอยากให้กำจัดระบบแป๊ะเจี๊ยะ เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี และยกเลิกหนี้ กยศ.”

อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย เผยผลสำรวจประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,230 รายทั่วประเทศ พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ 19,500 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 2562 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,300 บาทต่อคน 

ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายรวมสะพัด 5.7 หมื่นล้านบาท ผู้ปกครองใช้จ่ายเพิ่มขึ้นฟื้นตัวจากปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดโควิด และปรับตัวสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่หอการค้าไทยได้ทำการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองเริ่มพร้อมใช้จ่ายมากขึ้น จากเศรษฐกิจไตรมาส 1-2 ที่เริ่มฟื้น แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบ K-Shaped ที่ยังมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้ และกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว และแย่ลง ยังมีกลุ่มที่มีรายได้ประจำ รายได้ไม่สูงยังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ต้องนำเงินออมมาใช้ มีเงินไม่เพียงพอต้องกู้เงินทั้งในระบบ และบัตรเครดิตหมุนเวียนในช่วงระยะสั้น 2-3 เดือน ซึ่งประเมินว่าไม่ส่งผลกับหนี้ครัวเรือนในระยะยาว

สำหรับสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านการศึกษาในปัจจุบัน คือ ช่วยเหลือควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าบำรุงต่างๆ ค่าเครื่องแบบนักเรียน /พัฒนาเสริมสร้างบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทย เพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการศึกษาที่มีศักยภาพให้เพียงพอควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ และพัฒนาการของเด็ก พัฒนาเสริมสร้างโรงเรียนของรัฐบาลให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับเอกชน

ขณะที่นโยบายพรรคการเมืองด้านการศึกษา อยากให้มีโครงการให้อาหารฟรีให้กับเด็กนักเรียน กำจัดระบบแป๊ะเจี๊ยะ มีโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี และยกเลิกหนี้ กยศ.

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์