น้ำมันลงต่อเนื่องทำเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

น้ำมันลงต่อเนื่องทำเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือนเม.ย.สูงขึ้น 2.67 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน คาดเดือนพ.ค.ลงอีก คงเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1.7 – 2.7 % ค่ากลาง 2.2%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อ เดือนเม.ย.2566 เท่ากับ 107.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 105.15 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 2.67  %  ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาในเดือนเม.ย. 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง  ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.66  %  ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมี.ค.2566 ที่สูงขึ้น 1.75 %

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมี.ค. 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ระดับต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

น้ำมันลงต่อเนื่องทำเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 2566 ที่สูงขึ้น 2.67 % มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น4.53 % ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้  ถั่วฝักยาว มะนาว กระเทียม แตงโม เงาะ มะม่วง ตามสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และต้นทุนที่สูงขึ้น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ตามปริมาณข้าวที่ลดลงจากการส่งออกที่มีมากขึ้น และสิ้นสุดการจัดโปรโมชัน ไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และปริมาณในตลาดที่มีไม่มากนัก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น)) อาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ตามต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม ราคาสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ขึ้นฉ่าย ผักกาดขาว ผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก

น้ำมันลงต่อเนื่องทำเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

ขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น  1.39 % ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันกลุ่มดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG) แก๊สโซฮอล์ E85) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) เนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เสื้อผ้าบุรุษ น้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งผัดหน้า ที่เขียนคิ้ว ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเล็กน้อย 0.19 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.34 อาทิ ผักสด (ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า) ผลไม้สด (เงาะ มังคุด ส้มเขียวหวาน) และไข่ไก่ ขณะที่ เนื้อสุกร ปลาช่อน ผักบุ้ง มะเขือเทศ น้ำมันพืช และครีมเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ค่าของใช้และค่าบริการส่วนบุคคลที่ปรับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าแต่งผมชาย/สตรี ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ น้ำมันกลุ่มดีเซล ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว และตู้เย็น รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลบางประเภท (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน แป้งผัดหน้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย กระดาษชำระ) 

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า  แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว และบางรายการเริ่มทรงตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัว และคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ อาทิ ราคาก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7 – 2.7 % (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง